สำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า วันนี้ (27 มี.ค. 66) สำนักงานกำกับดูแลการเงินของเกาหลีใต้ (FSS) เปิดเผยว่า ยังไม่พบสัญญาณผิดปกติใด ๆ เกี่ยวกับการฝากถอนเงินของธนาคารภายในประเทศ
รายงานข่าวระบุว่า FSS กำลังจับตาสถานการณ์ของธนาคารภายในประเทศอย่างใกล้ชิด ภายหลังการเกิดวิกฤตกับธนาคารชาติตะวันตกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley Bank) และธนาคารซิกเนเจอร์ (Signature Bank) รวมไปถึงการร่วงลงของหุ้นธนาคารดอยซ์ (Deutsche Bank) ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ซึ่งเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้
ทั้งนี้ FSS เปิดเผยว่า มีลูกค้าจำนวนน้อยเท่านั้นที่ฝากเงินและโอนเงินเกิน 50 ล้านวอน (ราว 1.32 ล้านบาท) โดยจำนวนเงิน 50 ล้านวอนเป็นจำนวนเงินออมทรัพย์สูงสุดที่รัฐบาลเกาหลีใต้รับประกัน ในขณะที่ธนาคารทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นธนาคารที่ให้บริการผ่านทางอินเทอร์เน็ตเท่านั้น มีความเป็นได้ต่ำที่จะสูญเสียเงินของลูกค้า เนื่องจากจำนวนเงินฝากเฉลี่ยต่อคนอยู่ในช่วง 2 ล้านวอนเท่านั้น (ราว 52,800 บาท)
อย่างไรก็ตาม FSS ระบุว่า แม้จะมีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความเป็นไปได้เลยที่จะเกิดการแห่ถอนเงินในเกาหลีใต้ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของ FSS ณ สิ้นเดือนกันยายน ปี 2022 ที่พบว่า 98.1% ของผู้ฝากเงินในสถาบันการเงินในประเทศ มีเงินน้อยกว่า 50 ล้านวอน
นอกเหนือจากการจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว FSS ยังขยายช่วงเวลาชุดมาตรการชั่วคราวไปจนถึงเดือนมิถุนายน ปี 2023 ซึ่งเดิมมีกำหนดสิ้นสุดในช่วงรอยต่อของเดือนมีนาคมและเมษายนนี้ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสภาพคล่องทั่วโลก
โดยหนึ่งในมาตรการของชุดมาตรการชั่วคราว คือ การผ่อนปรนข้อกำหนดอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝาก (LDR) สำหรับสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดการเงิน โดยเมื่อเดือนตุลาคมปี 2022 เกาหลีใต้ได้เพิ่มเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝาก สำหรับสินเชื่อธุรกิจเป็น 105% สำหรับธนาคารชั้นหนึ่ง และ 110% สำหรับธนาคารกลุ่มออมทรัพย์
ที่มา : Yonhap
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส