วันที่ 1 เมษายน 2566 ธนาคารกรุงไทยประกาศว่าจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มแบบไม่ใช้บัตร ครั้งละ 10 บาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป และจะมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้ 1 ครั้งต่อเดือน ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2566
การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวก่อให้เกิดการวิจารณ์ว่า เป็นการกระทำที่สวนทางกับการผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสด และอาจเป็นการผลักดันให้ประชาชนกลับไปใช้บัตรเอทีเอ็ม ซึ่งตามปกติแล้วจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมราว 100 – 500 บาทต่อปี ขึ้นอยู่กับความสามารถที่ธนาคารเพิ่มเติมให้กับบัตรเอทีเอ็มในการใช้งานด้านอื่น ๆ ด้วย
ล่าสุด ทีมงาน beartai ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวภายในของธนาคารกรุงไทยระบุว่า จุดเริ่มต้นของการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป คือ การเปิดบัญชีออมทรัพย์แบบไม่มีบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต แล้วเลือกทำธุรกรรมถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มแบบไม่ใช้บัตรผ่านโมบายแบงก์กิ้งแทน ทำให้ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ของไทยประสบปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการดูแลโครงสร้างพื้นฐานอย่างตู้เอทีเอ็ม
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทยจึงได้นำปัญหาดังกล่าวไปหารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขออนุญาตในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มแบบไม่ใช้บัตร ซึ่งทาง ธปท. ได้ให้การอนุญาตแล้ว โดยธนาคารกรุงไทยถือเป็นธนาคารแห่งแรกที่ออกมาประกาศเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว และในอนาคตจะมีธนาคารพาณิชย์แห่งอื่น ๆ ที่ออกมาประกาศเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมเช่นกัน