สำนักข่าว Forbes รายงานว่าภูฏานได้มีการทำเหมืองขุดบิตคอยน์อย่างเงียบ ๆ ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะมาแล้วหลายปี โดยการใช้โรงไฟฟ้าพลังน้ำของประเทศที่มีแหล่งน้ำมาจากธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งแหล่งข่าวเผยว่ารัฐได้เริ่มต้นโครงการมาตั้งแต่ปี 2020 ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐยืนยันกับสื่อท้องถิ่นว่าได้เริ่มทำเหมืองขุดบิตคอยน์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาในตอนที่บิตคอยน์ราคาประมาณ 5,000 เหรียญสหรัฐฯ (171,000 บาท) แต่น่าเสียดายที่โครงการของรัฐไม่ได้เปิดรายละเอียดถึงวันที่เริ่มต้น สถานที่ตั้งและการทำไรออกมาอย่างชัดเจน
Forbes ยังรายงานว่าภูฏานกำลังเจรจากับ Bitdeer บริษัททำเหมืองบิตคอยน์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น Nasdaq ซึ่งในเดือนเมษายน Bitdeer ได้เปิดเผยข้อมูลต่อนักลงทุนว่ากำลังเจรจาเพื่อเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าขนาด 100 เมกะวัตต์สำหรับเหมืองบิตคอยน์ในภูฏานคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างศูนย์ขุดบิตคอยน์ในไตรมาสที่ 2 และจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3 ปี 2023
Forbes รายงานก่อนหน้านี้ว่าภูฏานมีบริษัทโฮลดิงที่ชื่อ Druk Holding & Investments ซึ่งได้นำเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณหลักร้อยล้านบาท) ไปถือครองในคริปโท ซึ่งข้อมูลถูกเปิดเผยโดยไม่ตั้งใจของ BlockFi และ Celsius ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนเช่นกัน
Forbes ยังเผยข้อมูลศุลกากรที่ชี้ว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาภูฏานได้นำเข้าชิปจำนวนมาก บ่งบอกถึงการเติบโตของเหมืองบิตคอยน์ ทั้งนี้ Forbes ตั้งข้อสังเกตว่าการใช้เงินไปกับชิปจำนวนมากจะทําให้เกิดการขาดดุลการค้าและการลดลงของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ
นอกจากนี้ภูฏานได้มีความสนใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งในปี 2021 ธนาคารกลางของภูฏานได้ร่วมมือกับ Ripple เพื่อนำร่องการใช้สกุลเงินดิจิตอลของธนาคารกลาง (CBDC) สำหรับใช้ชำระเงินซื้อสินค้า โอนข้ามประเทศ และการทำธุรกรรมขนาดใหญ่ของสถาบันการเงิน
ที่มา : cryptoglobe.com และ forbes.com
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส