วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ หรือที่เรียกกันว่า “ดอกเบี้ยขาขึ้นในยุคโควิด” กำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว โดยเฉพาะดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ถูกปรับขึ้นอย่างร้อนแรง และติดต่อกันมากถึง 10 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2022
ล่าสุด เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา FED มีมติขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% อยู่ที่ 5 – 5.25% และแม้ว่า FED จะยังไม่บอกว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายหรือไม่ แต่นักวิเคราะห์ก็เชื่อมั่นว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ “พีก” หรือ “ใกล้พีก” แล้ว
ขณะที่ภูมิภาคเอเชียในหลายประเทศเริ่ม “หยุด” การขึ้นดอกเบี้ยกันแล้ว นำโดยธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ที่ตัดสินใจคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม คือ 3.5% ในการประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2023 ซึ่งเป็นการคงดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบปี หลังจากที่ BOK เป็นผู้นำการขึ้นดอกเบี้ยในภูมิภาคนี้ถึง 7 ครั้ง ตามมาด้วยธนาคารกลางอินเดียที่ได้คงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 6.5% ในการประชุมเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ทางด้านภูมิภาคอาเซียน อินโดนีเซียถือเป็นประเทศแรกที่หยุดการขึ้นดอกเบี้ย โดยได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.75% ติดต่อกัน 3 ครั้งแล้ว นับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ส่วนประเทศมาเลเซียก็ได้หยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้วเช่นกัน เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2023 โดยคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.75% ซึ่งเป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน และปัญหาเงินเฟ้อที่เริ่มคลี่คลาย
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อ เพื่อให้มั่นใจว่า เงินเฟ้อจะลดลงมาสู่เป้าหมายได้อย่างแท้จริง โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของ ธปท. จะอยู่ที่ 2% จาก 1.75% ในปัจจุบัน นั่นหมายความว่า ธปท. มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้ง ที่ 0.25% ในการประชุมวันที่ 31 พฤษภาคมที่จะถึงนี้
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อีกหนึ่งกลุ่มเศรษฐกิจหลักของโลก ก็มีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด โดยหลังจากการประชุมครั้งล่าสุดในเดือนมีนาคมทีผ่านมา ECB ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.5% มาอยู่ที่ 3% ซึ่งนับเป็นการขึ้นครั้งที่ 6 ในรอบนี้
สำหรับเศรษฐกิจหลักในฝั่งเอเชียอย่างญี่ปุ่นและจีน ทั้งปัจจัยดอกเบี้ยและเงินเฟ้อไม่ได้เป็นประเด็นหลักสำหรับ 2 ประเทศนี้ เนื่องจากมีบริบททางเศรษฐกิจเฉพาะตัวที่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ และอย่างที่ทราบกันดีว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ด้วยการรักษาอัตราดอกเบี้ยที่ 0% ถึงดอกเบี้ยติดลบ
ล่าสุด ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2023 ทาง BOJ ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.1% ในขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ก็ได้ตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวของลูกค้าชั้นดี (LPR) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของจีน ประเภท 1 ปี ไว้ที่ 3.6% และประเภท 5 ปี ที่ 4.30% โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส