เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 10 ของรอบนี้ อีก 0.25% มาอยู่ที่ 5 – 5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี แต่ FED ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า นี่จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายหรือไม่ โดยระบุแต่เพียงว่าอาจจะหยุดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก็มีเรื่องหนึ่งที่แน่นอนคือคำพูดของ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่บอกว่า “ยังไม่เห็นโอกาสลดดอกเบี้ยในปีนี้”
ในภาวะที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ใกล้พีก (Peak) สินทรัพย์ลงทุนที่จะได้ประโยชน์จากแนวโน้มดอกเบี้ยทรงตัว และโอกาสเข้าสู่ขาลงในระยะถัดไป คือ พันธบัตร หรือ ตราสารหนี้ ซึ่งตามหลักการแล้ว ผลตอบแทนของตราสารหนี้จะผกผันไปตามอัตราดอกเบี้ย หากดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ผลตอบแทนตราสารหนี้จะลดลง แต่หากดอกเบี้ยเป็นขาลงผลตอบแทนก็จะเพิ่มขึ้น
ดังนั้น เมื่อวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้จบ ตราสารหนี้ที่ออกก่อนการเข้าสู่ดอกเบี้ยขาลงจะให้ราคาสูง จึงเป็นจังหวะลงทุนเพื่อล็อกผลตอบแทนไว้ในระดับสูง ก่อนที่ดอกเบี้ยจะเข้าสู่วัฏจักรขาลง
ในภาวะเช่นนี้ ความต้องการลงทุนในตราสารหนี้จึงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชนระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงมากกว่าการฝากเงิน ทำให้กองทุนตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศก็พาเหรดออกมาเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนมากมาย
ในทางกลับกัน เมื่อดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดสูงสุด สินทรัพย์ลงทุนที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น คือ หุ้น เพราะดอกเบี้ยสูงจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้น และกดดันการทำกำไรของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจกลุ่มการเงิน ซึ่งหลัก ๆ คือกลุ่มธนาคารนั่นเอง
แม้ธนาคารจะมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น แต่ลูกค้าสินเชื่อก็มีความเสี่ยงจากภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งปัญหาของธนาคารหลายแห่งในสหรัฐฯ ที่ต้องปิดตัวลง เพราะผลพวงจากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างร้อนแรงของ FED ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นกันอย่างชัดเจนแล้ว
แต่ไม่ใช่ว่าธุรกิจธนาคารในทุกประเทศ หรือหุ้นทุกตัวจะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยสูง เพราะว่าในตลาดยังมีหุ้นพื้นฐานดีอีกจำนวนมากที่สามารถเข้าลงทุนได้ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว รวมถึงธุรกิจที่พร้อมเติบโตไปกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียของเรา
สำหรับนักลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนจากสินทรัพย์เสี่ยงสูงอย่าง คริปโทเคอร์เรนซี ช่วงเวลานี้ยังไม่ใช่โอกาสที่สดใสนัก อาจจะต้องรอให้ FED เปิดทางสู่ดอกเบี้ยขาลงอย่างชัดเจน ซึ่งหลัก ๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับแนวโน้มเงินเฟ้อของสหรัฐฯ
การลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดี ย่อมขึ้นอยู่กับการเลือกสินทรัพย์ ระดับความเสี่ยง รวมถึงการปรับพอร์ตตามภาวะตลาด ซึ่งตัวเอกของการลงทุนในช่วงนี้คือตราสารหนี้ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน สินทรัพย์เด่นก็อาจเปลี่ยนไป ซึ่งเรื่องนี้เราจะติดตามอย่างใกล้ชิด และกลับมาบรีฟให้คุณฟังอย่างสม่ำเสมอ
ที่มา : BBC, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส