หลายคนมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ 2% ในเดือนพฤษภาคมนี้ และนั่นย่อมหมายความว่า ถึงเวลาที่ผู้กู้ต้องรับภาระดอกเบี้ยสูงแบบเต็ม ๆ กันแล้ว ซึ่งปัญหานี้สามารถแบ่งเบาภาระลงได้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้หรือรีไฟแนนซ์ โดยเฉพาะสินเชื่อประเภทดอกเบี้ยลอยตัวอย่างสินเชื่อบ้าน
วันนี้ beartai BRIEF มี 5 เรื่องที่คุณต้องรู้ ก่อนรีไฟแนนซ์บ้านในยุคดอกเบี้ยขาขึ้นมาฝาก เพื่อให้ทุกคนได้พิจารณาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน
ใครสามารถรีไฟแนนซ์ได้บ้าง ?
โดยทั่วไป ธนาคารจะเสนอแพ็กเกจสินเชื่อบ้านในอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก หลังจากนั้นจะปรับเป็นดอกเบี้ยลอยตัว ดังนั้น คนที่จะรีไฟแนนซ์ได้ต้องเป็นคนที่ผ่อนบ้านมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี อย่างไรก็ตาม เราควรตรวจสอบสัญญาเงินกู้ให้ดี เพราะธนาคารบางแห่งอาจให้ดอกเบี้ยคงที่นานกว่า 3 ปี ซึ่งอาจกำหนดเงื่อนไขการปิดหนี้นานกว่า 3 ปีก็ได้
อยากรีไฟแนนซ์ต้องทำยังไง ?
อันดับแรกต้องศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน โดยเฉพาะเงื่อนไขการรีไฟแนนซ์และอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้อย่างแท้จริง ซึ่งต้องคิดรวมทั้งดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ โดยต้องดูจากอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยตลอดอายุสัญญาเป็นหลัก อย่าหลงไปกับโปรโมชันดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรกเท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ธนาคารให้ดอกเบี้ยต่ำที่สุดเพื่อดึงดูดผู้กู้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว สินเชื่อการกู้บ้านมักมีระยะเวลายาวนานเป็น 20 – 30 ปี และโดยมากแล้วในปีที่ 4 เป็นต้นไป ธนาคารจะปรับเป็นดอกเบี้ยลอยตัวไปจนครบอายุสัญญา โดยอ้างอิงตามดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ย MRR ของธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ 5 อันดับแรก อยู่ที่ 6.85% ถึง 7.12% ต่อปี
ค่าใช้จ่ายรีไฟแนนซ์
ในการรีไฟแนนซ์บ้าน จะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้, ค่าจดจำนอง 1% ของวงเงินกู้, ค่าประเมินทรัพย์สินประมาณ 2,000 – 3,000 บาท, ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยที่ต้องทำทุก 1-3 ปี นอกจากนี้ อาจมีค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เช่น ค่าดำเนินการสินเชื่อ หรือค่าปรับกรณีปิดหนี้ก่อนกำหนด ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เราจำเป็นต้องรู้และคำนวณให้ถี่ถ้วน เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้อย่างแท้จริง
Retention อีกทางเลือกเพื่อลดดอกเบี้ย
Retention คือ การขอลดดอกเบี้ยเงินกู้กับเจ้าหนี้เดิม เมื่อหมดโปรโมชันดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งอาจได้ลดดอกเบี้ยลงเล็กน้อยราว 0.25 – 0.50% จากดอกเบี้ยลอยตัว แต่ก็มีโอกาสสูงที่จะได้ เมื่อเทียบกับการรีไฟแนนซ์ที่ต้องผ่านการอนุมัติจากธนาคารรายใหม่อีกครั้ง ซึ่งถ้าผ่าน ก็มีโอกาสได้ดอกเบี้ยคงที่ต่ออีก 3 ปี เช่น ดอกเบี้ยขั้นต่ำที่เสนออยู่ในตลาดประมาณ 3% เทียบกับดอกเบี้ยลอยตัวประมาณ 5%
แบ่งเบาดอกเบี้ยด้วยวิธีรวมหนี้
นอกจากสินเชื่อบ้านแล้ว การรีไฟแนนซ์ยังสามารถปรับใช้กับสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น สินเชื่อรถ สินเชื่อบัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคล และในปัจจุบันบางธนาคารก็เสนอแพ็กเกจรีไฟแนนซ์ด้วยการรวมหนี้สินเชื่อรายย่อยทุกประเภทมาไว้ด้วยกัน ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษเป็นตัวเลขเพียงหลักเดียว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราสูงสุดของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 25% ต่อปีแล้ว ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่อย่าลืมว่าอัตราดอกเบี้ยต่ำ ๆ มักมีไว้สำหรับผู้กู้ที่วินัยทางการเงินสูงเท่านั้น
ที่มา : Sansiri, DDproperty
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส