นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจาก ธปท.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของสถาบันการเงินในเรื่องของระบบแบงก์ล่ม
โดยมีการกำหนดเกณฑ์ Service Level Agreement (SLA) จะต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับระยะเวลาการแก้ไขระบบขัดข้องและการให้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะช่องทางโมบายแบงกิ้งเป็นหลัก
ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป คาดว่าขั้นตอนกระบวนการจะเสร็จภายในปลายไตรมาส 3 นี้ โดยหลักเกณฑ์ระบบแบงก์ล่ม 8 ชั่วโมงต่อปีนี้ จะมีระยะเวลาให้สถาบันการเงินมีเวลาปรับตัวและพัฒนาระบบรองรับภายใน 1 ปี ซึ่งจะมีผลบังคับใช้จริงภายในสิ้นปี 2567
หากดูสถิติระบบแบงก์ล่ม จะพบว่าแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในไตรมาส 1/2566 จะเห็นว่ามีธนาคารพาณิชย์ที่มีระบบขัดข้องเพียง 1-2 แห่งเท่านั้น และสัญญาณในไตรมาส 3 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าในไตรมาส 2 แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ระบบพร้อมเพย์ล่ม แต่หากดูระยะเวลาขัดข้องและใช้เวลาในการแก้ไขถือว่าไม่นานนัก จึงทำให้ภาพรวมทั้งไตรมาสน่าจะทรงตัวหรือดีขึ้น
ด้าน นายชาลี อัศวะธีระธรรม รองผู้จัดการอาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธปท.ได้หารือเรื่องเกณฑ์แบงก์ล่มไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปี และระยะเวลากู้คืนระบบ (recovery time) แต่ละครั้งไม่เกิน 2 ชั่วโมงตั้งแต่ปลายปีก่อน โดยธนาคารได้พัฒนาระบบในโครงการ SCB Easy Hygiene Project ซึ่งลงทุนไปแล้วมากกว่า 800 ล้านบาท ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ในภาพรวมเสถียรภาพของระบบธนาคารในปัจจุบัน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 มีระยะเวลาที่ระบบขัดข้อง (downtime) รวมทั้งสิ้นเพียง 60 นาที และ availability เฉลี่ยที่ 99.97% สูงกว่าเกณฑ์ ธปท.กำหนดไว้ที่ 99.90%
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส