นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 โดย สศค. ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ของไทยในปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 3.5% จากเดิมที่คาดไว้ 3.6%

ทั้งนี้ การปรับลดประมาณการ GDP เป็นผลมาจากสมมติฐานรายได้ท่องเที่ยวที่ปรับลดลงมาที่ 1.25 ล้านล้านบาท จากเดิม 1.3 ล้านล้านบาท เนื่องจากโครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างชาติเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลต่อรายได้ท่องเที่ยวในภาพรวม

นักท่องเที่ยวจีนยังมาไม่มากเท่าที่มองไว้ แต่กลายเป็นนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เข้ามามากแทน ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวมาเลเซียไม่สูงเท่าของจีน ทำให้ภาพรวมคาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวปีนี้จะลดลงจากเดิมราว 50,000 ล้านบาท คือ เหลือ 1.25 ล้านล้านบาท จากประมาณการรอบก่อนที่ 1.3 ล้านล้านบาท ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี ยังคาดไว้เท่าเดิมที่ 29.5 ล้านคน

พรชัย ฐีระเวช
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

สำหรับการลงทุนภาคเอกชน สศค. คาดว่าขยายตัวราว 2.6% จากความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย จึงคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จะหดตัวที่ -0.8%

ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.7% เนื่องจากแรงกดดันจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานได้คลี่คลายลง ประกอบกับมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน

ด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะกลับมาเกินดุล ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 0.8% ของ GDP 

ผู้อำนวยการ สศค. ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 4 ปัจจัย ได้แก่ ความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศหลัก ๆ เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และรัสเซีย

ปัจจัยถัดมา คือ สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ส่งผลต่อทิศทางเงินเฟ้อในประเทศ, สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจจีน และปัจจัยสุดท้าย คือ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน, การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและการค้าระหว่างประเทศ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส