เรียกว่าสมฐานะ #กรุงเทพเมืองคอนเสิร์ต เมื่อ นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ภายหลังสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลายลงตั้งแต่ต้นปี 2565 ส่งผลให้ภาคธุรกิจกลับมาประกอบธุรกิจอย่างจริงจัง และสามารถคาดหวังผลประกอบการ หรือผลกำไรที่เป็นบวกได้นั้น
ธุรกิจที่ได้ผลตอบรับและมีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน คือ ธุรกิจการจัดประชุม ฝึกอบรม แสดงสินค้า และคอนเสิร์ต หรือที่เรียกโดยรวมว่า “ธุรกิจ MICE” ซึ่งชาวต่างชาติ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย ทยอยเดินทางเข้ามาจัดประชุม ฝึกอบรม จัดงานแสดงสินค้า และจัดคอนเสิร์ตในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากรายได้ปี 2565 ของธุรกิจ MICE ที่มีรายได้รวมกว่า 36,100 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาจากผลประกอบการพบว่า รายได้รวมของธุรกิจ MICE
- ปี 2563 รายได้รวม 31,100 ล้านบาท ขาดทุน 394 ล้านบาท
- ปี 2564 รายได้รวม 29,400 ล้านบาท ขาดทุน 357.18 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้รวม 36,100 ล้านบาท กำไร 1,280 ล้านบาท
ในขณะที่สถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจจัดประชุม ฝึกอบรม แสดงสินค้า และคอนเสิร์ต พบว่า
- ปี 2563 จัดตั้ง 559 ราย ทุนจดทะเบียน 704.48 ล้านบาท
- ปี 2564 จัดตั้ง 454 ราย ทุนจดทะเบียน 668.83 ล้านบาท
- ปี 2565 จัดตั้ง 536 ราย ทุนจดทะเบียน 814.04 ล้านบาท
- ปี 2566 (เดือนมกราคมถึงมิถุนายน) จัดตั้ง 388 ราย ทุนจดทะเบียน 524.88 ล้านบาท
ทั้งนี้ การลงทุนในธุรกิจส่วนใหญ่เป็นคนไทย คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 39,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 97.42% ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุดคือ จีน คิดเป็นมูลค่า 303 ล้านบาท รองลงมาคือ ญี่ปุ่น 209 ล้านบาท, สหรัฐอเมริกา 81 ล้านบาท และอื่น ๆ รวมมูลค่า 440 ล้านบาท
นายทศพล เปิดเผยว่า ธุรกิจ MICE เป็นธุรกิจที่ชาวต่างชาติสนใจเดินทางเข้ามาจัดงานในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุมาจากความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ครบครัน มีสนามบินขนาดใหญ่ การคมนาคมที่สะดวกสบาย สถานที่ท่องเที่ยวมีความหลากหลาย และค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการท่องเที่ยวไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค
ธุรกิจดังกล่าว จึงสามารถสร้างเม็ดเงินทั้งจากคนในประเทศและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ ส่งผลให้ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับผลดีไปด้วย เช่น โรงแรมและห้องพัก, ร้านอาหาร รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียต่างให้ความสนใจและเพิ่มความสำคัญในการพัฒนาธุรกิจจัดประชุม ฝึกอบรม แสดงสินค้า และคอนเสิร์ตมากยิ่งขึ้น โดยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้มีความสมบูรณ์ การสร้างสถานที่จัดงานที่มีความพร้อม สามารถบรรจุผู้เข้าชมงานได้จำนวนมาก การพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ให้มีความทันสมัย รวมถึงการคมนาคมที่สามารถเข้าถึงสถานที่จัดงานได้อย่างสะดวก ซึ่งจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในอนาคต
นายทศพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ประกอบรายใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ธุรกิจ MICE และผู้ประกอบการรายเดิมจำเป็นต้องคำนึงถึงความพร้อมของธุรกิจและบุคลากรเป็นหลัก รวมถึงการจัดหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเพื่อความเป็นมืออาชีพในการจัดงาน การเลือกสถานที่จัดงานที่โดนใจลูกค้า พร้อมเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด
ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ มีจุดแข็งเหนือคู่แข่ง และเมื่อการจัดงานเสร็จสิ้นลง ผลงานที่ออกมาโดนใจ และบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ลูกค้ากำหนด จะส่งผลให้เกิดการใช้บริการซ้ำและเป็นลูกค้าประจำ ดังนั้น หากจะมีการจัดประชุม ฝึกอบรม แสดงสินค้า และคอนเสิร์ตในครั้งหน้า ลูกค้าก็จะคิดถึงไทยเป็นประเทศแรกที่จะเลือกในการจัดงานครั้งต่อไป
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส