หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับนิยามหนี้ครัวเรือนใหม่ ทำให้จำนวนหนี้ครัวเรือนรวมของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 90.6% ของ GDP โดยหนี้ก้อนมหึมานี้ถูกคิดคำนวณจากผู้ที่กำลังผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ใช้บัตรเครดิต หรือมีวงเงินสินเชื่อพร้อมใช้กับสถาบันการเงิน
แม้ว่าหนี้ครัวเรือนมีจะปริมาณมหาศาล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นหนี้ทุกคนจะสร้างปัญหาเสมอไป ตราบใดที่ยังสามารถจ่ายคืนหนี้ได้ครบถ้วน ตรงตามกำหนดเวลา และคงสถานะลูกหนี้ที่ดีไว้ได้ ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ มักมาจากสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ได้แก่ บัตรเครดิต, บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล
บทความนี้ beartaiBRIEF ชวนทำความเข้าใจความแตกต่างและอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อทั้ง 3 ประเภท เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีหนี้ (และกำลังจะเป็นหนี้) สามารถประหยัดดอกเบี้ยลงได้ โดยไม่เสียวินัยทางการเงิน
บัตรเครดิต
ใช้รูดจ่ายค่าสินค้าหรือบริการแทนเงินสด โดยวงเงินในบัตรที่แต่ละคนได้รับขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระคืนหนี้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของบัตรเครดิตกำหนดไว้ที่ 16% ต่อปี รวมทั้งมีการกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ และระยะปลอดดอกเบี้ยไว้อย่างชัดเจน
ดังนั้น การใช้บัตรเครดิตจึงมีวิธีที่ผู้ใช้จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเมื่อรูดบัตรไปแล้ว นั่นก็คือต้องจ่ายหนี้คืนเต็มจำนวนภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือโปรโมชันประเภทผ่อน 0% เป็นเวลา XX เดือน ถ้าเราสามารถผ่อนจ่ายได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดก็จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเช่นกัน
สำหรับบางคนที่เลือกจ่ายขั้นต่ำ 10% แม้วิธีนี้จะช่วยให้หายใจได้คล่องขึ้นในช่วงที่เงินตึงมือ แต่ถ้าติดนิสัยจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ ก็อาจนำไปสู่กับดักหนี้ได้ เพราะหนี้จะสะสมเป็นดินพอกหางหมู ขณะที่ผู้ใช้บัตรเครดิตก็ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการจ่ายขั้นต่ำจะถูกคิดดอกเบี้ย 2 ต่อ โดยต่อแรกดอกเบี้ยจะเดินทันทีหลังวันที่รูดบัตร และต่อที่ 2 คือดอกเบี้ยจากยอดหนี้คงค้าง ยิ่งค้างเท่าไร ดอกเบี้ยยิ่งบานขึ้นเท่านั้น
บัตรกดเงินสด
เป็นวงเงินพร้อมใช้ที่มาในรูปของบัตรกดเงินสด เมื่อผู้ใช้ต้องการเงินสดก็สามารถกดเงินจากตู้ ATM ได้ ซึ่งจะถูกคิดดอกเบี้ยทันทีและต่อเนื่องทุกวัน จนกว่าจะจ่ายหนี้คืนครบทั้งหมด โดยเพดานดอกเบี้ยของสินเชื่อประเภทนี้อยู่ที่ 25% ต่อปี
โดยจุดประสงค์หลักของบัตรกดเงินสด เพื่อเป็นเงินสำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น เกิดอุบัติเหตุ ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หรือในช่วงเปิดเทอมที่ผู้ปกครองต้องมีรายจ่ายเพิ่ม จึงเหมาะเป็นสินเชื่อระยะสั้น และผู้ใช้บัตรกดเงินสดต้องมีวินัยทางการเงินสูง ควรกดเงินมาใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และต้องรีบคืนโดยเร็ว เพื่อปลดทั้งภาระเงินต้นและดอกเบี้ยให้จบไป
สินเชื่อบุคคล
ผู้กู้ต้องยื่นคำขอสินเชื่อต่อสถาบันการเงิน และรอการอนุมัติเป็นครั้ง ๆ ไป หากได้รับการอนุมัติแล้ว เงินจะถูกโอนเงินเข้าบัญชีของผู้กู้ และมีการกำหนดเวลาที่ต้องชำระคืนไว้อย่างชัดเจน เช่น 12, 18, หรือ 24 เดือน โดยมีการคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุด 25% ต่อปี หากชำระล่าช้าจะถูกปรับเป็นดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงขึ้น
ทั้งนี้ หนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้กู้ หากใช้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และรับผิดชอบ ในทางกลับกันหากขาดวินัยทางการเงิน ปล่อยให้เป็นหนี้เสีย หรือติดอยู่ในกับดักหนี้แบบไม่รู้จบ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตของผู้กู้เอง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส