Evergrande Group ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของจีน ยื่นคำร้องขอความคุ้มครองจากเจ้าหนี้ในศาลล้มละลายในนิวยอร์กของสหรัฐฯ เมื่อวันวานนี้ (พฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม) หลังจากประสบปัญหากู้ยืมอย่างหนักและผิดนัดชำระหนี้ในปี 2564
บริษัทยื่นขอความคุ้มครองภายใต้มาตรา 15 ของประมวลกฎหมายล้มละลายของสหรัฐฯ ซึ่งคุ้มครองบริษัทนอกสหรัฐฯ ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างจากเจ้าหนี้ที่หวังจะยื่นฟ้องหรืออายัดทรัพย์สินในสหรัฐฯ ขณะที่ Tianji Holdings ซึ่งเป็น บริษัทที่เกี่ยวข้องกัน ได้ขอการคุ้มครองมาตรา 15 ในวันพฤหัสบดีที่ศาลล้มละลายแมนฮัตตันเช่นกัน
การยื่นคำร้องขอความคุ้มครองของ Evergrande เกิดขึ้นท่ามกลางความกลัวที่เพิ่มขึ้นว่าปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนอาจแพร่กระจายไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ของเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลง นับตั้งแต่วิกฤตหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนเริ่มต้นในช่วงกลางปี 2564 บริษัท Evergrande ซึ่งมีสัดส่วน 40% ของยอดขายบ้านในจีนได้เริ่มผิดนัดชำระหนี้
ขณะที่สถานการณ์ของ Country Garden ผู้พัฒนาเอกชนรายใหญ่ที่สุดของจีน ทำให้นักลงทุนกังวลเช่นกัน หลังจากที่บริษัทผิดนัดการจ่ายดอกเบี้ยบางส่วนในเดือนนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ Evergrande มีหนี้สิน 11.6 ล้านล้านบาท (330,000 ล้านดอลลาร์) จากการผิดนัดชำระช่วงปลายปี 2564 ก่อให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ต่อเนื่องไปยังผู้สร้างรายอื่น ส่งผลให้มีบ้านสร้างไม่เสร็จจำนวนมากทั่วประเทศจีน
เมื่อเดือนที่แล้ว Evergrande ประกาศผลการขาดทุนรวม 2.8 ล้านล้านบาท (81,000 ล้านดอลลาร์) ในปี 2564 และ 2565 ทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของแผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่บริษัทเสนอเมื่อเดือนมีนาคม จนเมื่อวันจันทร์ China Evergrande New Energy Vehicle Group หน่วยยานยนต์ไฟฟ้า ได้ประกาศการปรับโครงสร้างที่เสนอเพื่อลดหนี้เช่นกัน โดยแผนดังกล่าวเรียกร้องให้มีการแลกเปลี่ยนหนี้เป็นทุน 95,000 ล้านบาท (2,700 ล้านดอลลาร์) และการขายหุ้นเกือบ 18,000 ล้านบาท (500 ล้านดอลลาร์) ซึ่งจะทำให้กลุ่ม NWTN ของดูไบเข้ามามีสัดส่วนการถือหุ้น 27.5% โดยการซื้อขายหุ้นใน China Evergrande ถูกระงับในเดือนมีนาคม 2565
ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ถูกมองว่า เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกมาอย่างช้านาน และคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 30% ของ GDP ของประเทศ และการผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande เมื่อปี 2564 ถือเป็นการสร้างแรงกระแทกไปยังตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน จนเกิดความเสียหายต่อเจ้าของบ้านและระบบการเงินโดยรวมในประเทศการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทเกิดขึ้นหลังจากที่ปักกิ่งเริ่มปราบปรามการกู้ยืมเงินมากเกินไปของนักพัฒนา เพื่อพยายามควบคุมราคาที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงขึ้น
แม้ล่าสุดธนาคารกลางจีนได้ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีน ลง 0.15% สู่ระดับ 2.50% เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางจะคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ที่ระดับ 2.65% รวมทั้งยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (reverse repurchase rate) ระยะ 7 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นของจีน ลง 0.10% สู่ระดับ 1.8% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่หลายฝ่ายมองว่ามาตรการดังกล่าว ยังไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซาได้
ที่มา : CNN
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส