ภาษีคือเรื่องที่คนทำงานต้องรู้และไม่ควรมองข้าม เพราะหากทำผิดเงื่อนไขภาษี อาจทำให้ถูกเรียกเก็บย้อนหลังและต้องจ่ายเบี้ยปรับเพิ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้ไม่คุ้มเสียอย่างยิ่ง บทความนี้ beartaiBRIEF ชวนคุณทำความเข้าใจภาษีในแบบฉบับที่คนทำงานควรรู้ ก่อนเจอภาษีย้อนหลัง!

ใครมีหน้าที่ต้องยื่นแบบภาษี?

หลายคนยังเข้าใจว่า “หากเรามีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีก็ไม่ต้องยื่นแบบ” ซึ่งเรื่องนี้เปิดความเข้าใจที่ผิดอย่างยิ่ง เพราะความเป็นจริงแล้วกรมสรรพากรมีหลักเกณฑ์ว่า ผู้ที่มีรายได้ 10,000 บาทต่อเดือน หรือ 120,000 บาทต่อปี มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ (เงินได้) ต่อกรมสรรพากร

ในกรณีที่เรามีรายได้ตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด แต่ไม่ได้ยื่นแบบ อาจได้รับจดหมายจากกรมสรรพากรให้ยื่นแบบแสดงรายการให้ถูกต้อง และมีค่าปรับการไม่ยื่นแบบ 200 บาทต่อปี โดยความผิดนี้มีอายุความ 1 ปี

แล้วรายได้ขั้นต่ำเท่าใดที่ต้องเสียภาษี? ข้อมูลจากกรมสรรพากรกำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นอัตราขั้นบันได โดยเริ่มตั้งแต่ 5% – 35% ดังต่อไปนี้

เงินได้สุทธิอัตราภาษี
0 – 150,000 บาทได้รับการยกเว้นภาษี
150,001 – 300,000 บาท5%
300,001 – 500,000 บาท10%
500,001 – 750,000 บาท15%
750,001 – 1,000,000 บาท20%
1,000,001 – 2,000,000 บาท25%
2,000,001 – 5,000,000 บาท30%
มากกว่า 5,000,000 บาท35%

จากข้อมูลของกรมสรรพากรจะเห็นว่า ผู้ที่มีรายได้สุทธิขั้นต่ำ 150,001 จะเริ่มเสียภาษีแล้วในอัตรา 5% โดยเบื้องต้นจะเป็นผู้ที่มีรายได้เดือนละประมาณ 26,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่าย 50% (แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) และลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท โดยไม่มีการลดหย่อนอื่น ๆ เพิ่มเติม จะต้องเสียภาษีในอัตรา 5% คำนวณภาษี ดังนี้

รายได้พึงประเมิน 26,000 x 12 = 312,000 บาท
หักค่าใช้จ่าย 50% แต่ไม่เกิน 100,000 = 212,000 บาท
หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 = 152,000 บาท (ส่วนนี้คือรายได้สุทธิ)
คำนวณภาษี 150,000 บาทแรก ซึ่งได้รับการยกเว้น ทำให้เหลือรายได้คำนวณภาษี 2,000 บาท
เสียภาษีในอัตรา 5% ของ 2,000 = ต้องเสียภาษี 100 บาท

แต่หากใครมีการลดหย่อนอื่น ๆ เพิ่ม เช่น สามีภรรยา ประกันสังคม ประกันชีวิตก็อาจประหยัดภาษีได้เพิ่มเติม

เงินเดือนไม่ถึง แต่ทำไมโดนภาษีย้อนหลัง?

ภาษีย้อนหลัง : เรื่องที่คนทำงานต้องรู้ ก่อนทำผิดเงื่อนไขภาษี

ใครที่เงินเดือนไม่ถึง 26,000 บาท อย่าเพิ่งวางใจ เพราะในกรณีที่มีรายได้เสริมอื่น ๆ เช่น การขายของออนไลน์ การทำงานเสริมอื่น ๆ ที่กรมสรรพากรตรวจติดตามได้ ไม่ว่าจะเป็นการดูความถี่เงินที่โอนเข้าบัญชี หรือการยื่นภาษี ณ ที่จ่ายของผู้ว่าจ้าง ซึ่งเมื่อรวมกับเงินเดือนของเราแล้ว อาจจะเข้าเกณฑ์เสียภาษี ซึ่งหากไม่ได้ยื่นแสดงรายได้และเสียภาษีในส่วนนั้น ก็อาจถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังและอาจมีค่าปรับด้วย

ทั้งนี้ หากไม่ชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนดก็จะต้องเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระ นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี

และหากไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้ หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 – 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี ดังนั้น ทางที่ดีควรยื่นแบบที่แสดงรายได้ที่ถูกต้องและครบถ้วนตามความเป็นจริง เพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไขภาษีและไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง

ที่มา : กรมสรรพากร

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส