Bitcoin Thailand Conference 2023 คืองานสัมมนาบิตคอยน์ครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของชุมชนชาวบิตคอยน์ไทยหลากหลายภาคส่วน นำทีมโดย อาจารย์พิริยะ สัมพันธารักษ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ไรท์ชิฟท์ จำกัด และกรรมการบริหาร บริษัท โฉลก ดอท คอม จำกัด, พ.อ.ดร.วิชิต ซ้ายเกล้า ผู้ก่อตั้ง Chitbeer, Piccolo ผู้ก่อตั้ง Build on Bitcoin (BOB Space) และ นพ.เดชา ปิยะวัฒน์กูล ผู้ก่อตั้ง Thai Lightning Noderunner, LATES
งานสัมมนาในครั้งนี้ถูกจัดขึ้นภายใต้ธีม “Road To Adoption” ซึ่งกล่าวถึงบิตคอยน์ในมุมมองที่หลายคนเริ่มรับรู้ว่ามีสิ่งนี้อยู่บนโลก แต่ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าบิตคอยน์นั้นแตกต่างกับคริปโทเคอร์เรนซีอื่น ๆ อย่างไร หรือนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง นอกเหนือจากจุดมุ่งหมายเพื่อการลงทุน ซึ่งความเข้าใจนี้ทำให้บิตคอยน์ถูกนำไปแอบอ้างโดยสแกมเมอร์ และทำให้หลายคนรวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลมองบิตคอยน์ในภาพลบ
การยอมรับบิตคอยน์ในเอเชีย
หัวข้อแรกของงานสัมมนาคือ “Bitcoin Communities and Adoption in Asia” หรือจุดเริ่มต้นของการยอมรับบิตคอยน์ในเอเชีย ซึ่งในหัวข้อนี้มีบิตคอยน์เนอร์จากญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น โดยบิตคอยน์เนอร์ทุกท่านมีความเห็นตรงกันว่า การยอมรับบิตคอยน์จะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เมื่อระบบเงินเฟียต (Fiat) หรือสกุลเงินที่ออกโดยรัฐบาลเกิดวิกฤตการเงินขึ้น เช่น เงินเฟ้อ เนื่องจากเงินเสื่อมค่าลงและผู้คนพยายามหาสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงกว่ามาทดแทน
โดยบิตคอยน์เนอร์ชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะเขานี้เปิดคาเฟ่อยู่ในจังหวัดภูเก็ตและได้พบกับนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย ซึ่งนำบิตคอยน์มาใช้จ่ายแทนสกุลเงินรูเบิลที่เสื่อมค่าลงและถูกปิดกั้นจากนานาชาติ เนื่องจากภาวะสงครามและการถูกคว่ำบาตร มันจึงเป็นภาพสะท้อนว่า สกุลเงินที่ออกโดยรัฐบาลสามารถถูกแทรกแซงได้โดยการเมือง ซึ่งเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นกับบิตคอยน์
ขณะเดียวกัน บิตคอยน์เนอร์ญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ประเทศญี่ปุ่นที่ใคร ๆ มักบอกว่าเป็นต้นกำเนิดของบิตคอยน์ แท้จริงแล้วคนในประเทศไม่ค่อยให้ความสนใจกับบิตคอยน์มากนักและส่วนใหญ่ยังมองสิ่งนี้เป็นการหลอกลวง เนื่องจากสกุลเงินเยนที่ออกโดยรัฐบาลยังมีความมั่นคง แต่ในปัจจุบันค่าเงินเยนที่อ่อนลงและภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เริ่มทำให้ผู้คนสนใจบิตคอยน์มากขึ้น เพื่อเก็บรักษาสินทรัพย์ของตนเองไม่ให้เสื่อมค่า
ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว บิตคอยน์เนอร์ชาวอินโดนีเซียเปิดเผยว่า มีความคล้ายคลึงกันกับคนในประเทศของตน โดยช่วงหลังโควิด-19 เป็นต้นมา ชาวอินโดนีเซียบางส่วนเลือกเก็บรักษาสินทรัพย์ไว้ในบิตคอยน์มากกว่าเงินสด หรือการฝากเงินไว้ในบัญชีธนาคาร เนื่องจากกฎระเบียบใหม่ของประเทศที่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการใช้งานดิจิทัลแบงก์กิ้ง ทำให้ผู้คนหันกลับไปสู่การใช้เงินสด แต่ขณะเดียวกัน เงินสดก็ถูกกระบวนการของเงินเฟ้อทำให้เสื่อมค่า บิตคอยน์จึงเข้ามาตอบโจทย์การเก็บรักษาสินทรัพย์ตรงนี้แทน
การกำกับดูแลบิตคอยน์โดยภาครัฐ
อีกหนึ่งหัวข้อที่น่าสนใจคือ “Regulatory Landscape for Bitcoin Adoption in SEA” หรือการกำกับดูแลบิตคอยน์โดยภาครัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง ซึ่งในหัวข้อนี้บิตคอยน์เนอร์จากไทย เวียดนาม ญี่ปุ่น และเยอรมนี ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนมุมมองต่อการทำงานของรัฐในการกำกับดูแลบิตคอยน์
ซึ่งหลายคนเห็นตรงกันว่า ภาครัฐส่วนใหญ่รับรู้การมีอยู่ของบิตคอยน์ แต่ยังไม่แน่ใจหรือเข้าใจโดยทั้งหมดว่าบิตคอยน์นำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง และด้วยเหตุผลดังกล่าว เมื่อสแกมเมอร์นำบิตคอยน์ไปแอบอ้างและหลอกลวงประชาชนทั่วไปจนเกิดความเสียหาย ทำให้ภาครัฐต้องเร่งออกมาตรการมากำกับดูแลบิตคอยน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปในทางควบคุมสุดโต่ง จนบิตคอยน์เนอร์ไม่อาจใช้ประโยชน์จากบิตคอยน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ
โดยบิตคอยน์เนอร์จากญี่ปุ่นเปิดเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีความห่วงใยเรื่องเสถียรภาพอย่างมาก ซึ่งเป็นพื้นฐานของลักษณะนิสัยของคนในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างระบบการเงิน การเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมบิตคอยน์ให้เข้ามาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะภาครัฐมีความกังวลเรื่องการฟอกเงินอย่างมาก และมีความพยายามยิ่งยวดในการปกป้องประชาชนจากสแกมเมอร์
ในขณะที่บิตคอยน์เนอร์จากเยอรมนีเปิดเผยว่า การไม่พยายามศึกษาหรือทำความเข้าใจบิตคอยน์ของภาครัฐอาจทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยประเทศเยอรมนีนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศอุตสาหกรรมเก่า เช่น การผลิตรถยนต์ ส่งผลให้เกิดกลุ่มก้อน Old Money ในประเทศ ทำให้เป็นการยากที่คนรุ่นใหม่และผู้ประกอบการรายเล็กจะเติบโตได้ เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ส่งผลให้เกิดการโยกย้ายไปทำงานและสร้างสรรค์ธุรกิจในประเทศอื่น ๆ แทน และทำให้เยอรมนีเสี่ยงต่อการปรับตัวไม่ทัน หากโลกมีการยอมรับบิตคอยน์หรือการยอมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ
อย่างไรก็ตาม บิตคอยน์เนอร์ส่วนใหญ่ในหัวข้อนี้ยอมรับว่า การกำกับดูแลบิตคอยน์โดยภาครัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงนั้น มีสัญญาณที่เป็นมิตรต่อบิตคอยน์มากกว่าฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรป โดยบิตคอยน์เนอร์จากเวียดนามเปิดเผยว่า การกำกับดูแลบิตคอยน์โดยภาครัฐอาจทำให้บิตคอยน์เนอร์บางคนไม่พอใจ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าการวางกรอบกติกาอะไรบางอย่างไว้ หมายความว่าภาครัฐสนใจสิ่งนี้และเริ่มเปิดรับมันมากขึ้น
ในขณะที่บิตคอยน์เนอร์จากประเทศไทยแสดงความเห็นว่า รัฐบาลของเรามองบิตคอยน์เป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่งมากกว่าการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ในขณะที่ชุมชนบิตคอยน์เนอร์มองว่า บิตคอยน์เป็นการออมทรัพย์ หรือการเก็บรักษาสินทรัพย์แทนเงินสดมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็มีท่าทีสนใจและพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับบิตคอยน์มากขึ้น ไม่ได้ปิดกั้นไปซะทีเดียว
ภายในงาน Bitcoin Thailand Conference 2023 ยังมีอีกหลายหัวข้อเสวนา โดยเหล่าบิตคอยน์เนอร์และผู้สนใจสามารถติดตามเนื้อหาเพิ่มเติม พร้อมคำบรรยายภาษาไทยได้ที่ YouTube : Right Shift (คลิกที่นี่)