จากกรณีร้านลูกไก่ทอง (Lukkaithong) เผยแพร่ข้อความผ่านบัญชีเฟซบุ๊กของร้านโดยระบุว่า แบรนด์ปังชาได้ทำการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้า (Trademark) “ปังชา” ในภาษาไทย และ “Pang Cha” ในภาษาอังกฤษ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
พร้อมระบุว่า “ปังชา” ได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์และจดทะเบียนสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข และสงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษไปใช้เป็นชื่อร้าน หรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย
จากข้อความดังกล่าวส่งผลให้เกิดความสับสนในกลุ่มผู้ประกอบการร้านของหวานว่า ยังสามารถขายเมนูน้ำแข็งไสรสชาไทยต่อไปได้หรือไม่ เนื่องจากเมนูดังกล่าวมีส่วนผสมของชาไทยและขนมปัง ทำให้หลายร้านมีการตั้งชื่อเมนูว่า “ปังเย็นชาไทย” ซึ่งคล้ายกับ “ปังชา” ที่ถูกจดทะเบียนลิขสิทธิ์และจดทะเบียนสิทธิบัตรเอาไว้
ประเด็นดังกล่าวเริ่มร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อนักกฎหมายหลายรายออกมาวิจารณ์ว่า แบรนด์ไม่สามารถห้ามให้ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ไม่ให้ใช้คำว่า “ปังชา” ได้ เนื่องจากคำว่า “ชา” เป็นคำสามัญที่มีการใช้เป็นการทั่วไป และชื่อแบรนด์ไม่ได้เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้ว แต่จะได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เมื่อมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเท่านั้น
โดย ‘เครื่องหมายการค้า’ มีความหมายตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น
บุคคลใดเลียนแบบเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือ เครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่น ที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นนั้น ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
สำหรับ ‘สิทธิบัตร’ นั้น ข้อมูลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่า เป็นการคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์ใช้สอย หรือเป็นการออกแบบเพื่อตกแต่ง ซึ่งรวมไปถึงรูปร่าง ลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ โดยภายใต้กฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทย สิทธิบัตรสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. สิทธิบัตรการประดิษฐ์ คือการคุ้มครองการประดิษฐ์ที่มีการใช้งานหรือมีประโยชน์ใช้สอย โดยการประดิษฐ์อาจรวมถึงลักษณะ องค์ประกอบ กลไก โครงสร้าง กระบวนการ หรือกรรมวิธีในการผลิต การเก็บรักษา หรือการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น หรือทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม
2. อนุสิทธิบัตร คือการคุ้มครองการประดิษฐ์ที่มีการใช้งานหรือมีประโยชน์ใช้สอย โดยการประดิษฐ์อาจรวมถึงลักษณะ องค์ประกอบ กลไก โครงสร้าง กระบวนการ หรือกรรมวิธีในการผลิต การเก็บรักษา หรือการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยไม่จำเป็นต้องมีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น อนุสิทธิบัตรจึงเหมาะสำหรับสิ่งประดิษฐ์ที่มีการพัฒนาหรือมีการปรับปรุงเล็กน้อย
3. สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ คือการคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ องค์ประกอบของลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับการผลิตเชิงอุตสาหกรรม รวมทั้งหัตถกรรมได้
ดังนั้น ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ยังคงสามารถขายเมนูน้ำแข็งไสรสชาไทยต่อไปได้ตามปกติ รวมถึงสามารถใช้คำว่า ชา ชาไทย ปังชาไทย ปังเย็นชาไทย ในการตั้งชื่อร้านและเมนูได้ แต่จะไม่สามารถลอกเลียนแบบและนำเครื่องหมายการค้า “ปังชา” ไปดัดแปลงให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนและเข้าใจผิดได้
ที่มา : IDG, IDG, กระทรวงยุติธรรม, กรมทรัพย์สินทางปัญญา, กรมทรัพย์สินทางปัญญา
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส