สำหรับบางคน ‘ความโสด’ คือ ‘ความสุข’ ด้วยเหตุผลนี้คนไทยหลายคนจึงเลือกอยู่เป็นโสดมากขึ้น สะท้อนจากสถิติในรอบ 10 ปี (พ.ศ. 2550 – 2560) พบว่าจำนวนการจดทะเบียนสมรสของคนไทยลดลงจาก 313,000 คนในปี 2550 ลดลงมาอยู่ที่ 298,000 คนในปี 2560 หรือลดลง 5.1% สวนทางกับจำนวนการจดทะเบียนหย่าที่เพิ่มขึ้นจาก 102,000 คน มาเป็น 122,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 19.7%
ข้อมูลดังกล่าวยังสอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ระบุว่า คน Gen Y หรือกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 21 – 37 ปี ให้ความสำคัญกับการประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่ามีครอบครัว ซึ่งในปี 2564 คนโสดใน Gen Y มีสัดส่วนสูงถึง 44.5% เลยทีเดียว
ดังนั้น เมื่อเลือกที่จะโสดแล้ว การวางแผนทางการเงินจึงเป็นเรื่องจำเป็น บทความนี้ beartaiBRIEF จะเล่าถึงการวางแผนทางการเงินของคนโสดจนถึงวัยเกษียณ ซึ่งมี 5 สิ่งต้องเตรียมพร้อม!
1. เตรียมเงิน
ตามหลักการการออมโดยทั่วไป ควรแบ่งเงินเก็บไว้ 10% ของรายได้รวมในแต่ละเดือน และควรจัดสรรเงินเผื่อภาวะฉุกเฉินด้วย โดยควรมีเงินออมให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในยามฉุกเฉินได้อย่างสบาย ๆ ใน 3 เดือนข้างหน้า ยกตัวอย่าง หากมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 15,000 บาท ควรมีเงินออมเผื่อฉุกเฉิน 45,000 บาท แต่สำหรับคนโสดที่ต้องหารายได้เองคนเดียว ควรมีเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉินขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 6 เดือน นั่นก็คือ 90,000 บาท
2. เตรียมลงทุน
เราต้องเริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายหลังเกษียณว่ามีแผนใช้เงินต่อเดือนเท่าไร แล้วประเมินว่าตัวเองจะมีอายุจากวันเกษียณไปอีกกี่ปี เช่น อยากมีเงินใช้เดือนละ 20,000 บาท หรือ 240,000 บาทต่อปี และคาดว่าจะใช้ชีวิตไปถึงอายุ 85 ปี หมายความว่าเราจะมีชีวิตต่อไปอีก 26 ปีหลังเกษียณในวัย 60 ปี ดังนั้น จึงต้องมีเงินก่อนเกษียณ 6,240,000 บาท แต่!! เงินจำนวนนี้ก็ยังไม่รวมเงินเฟ้อ ส่งผลให้คนโสดที่อยากเกษียณแบบสบาย ๆ ก็ต้องเตรียมวางแผนการเงินให้มากกว่านั้น ซึ่งมีทั้งการออมเงินหรือการลงทุนต่าง ๆ เพิ่มเติม
3. เตรียมประกันสุขภาพ
การทำประกันสุขภาพ โดยเฉพาะประกันโรคร้ายแรง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในอนาคตได้ ซึ่งอาจทำเป็นสัญญาแนบกับประกันชีวิต โดยควรดูเงื่อนไขของสัญญาเพิ่มเติม และระยะเวลาสิ้นสุดของประกันชีวิตหลักด้วยว่าจะคุ้มครองจนถึงเกษียณหรือไม่
4. เตรียมเงินสำหรับพ่อแม่
แม้ว่าหลายจะเลือกอยู่เป็นโสด แต่บางคนก็อาจมีพ่อแม่หรือผู้สูงอายุในครอบครัวที่ต้องคอยดูแล ดังนั้น อาจต้องวางแผนเผื่อพวกเขาในอนาคตด้วย โดยเฉพาะการวางแผนซื้อประกันชีวิตสำหรับพ่อแม่และคนในครอบครัว
5. เตรียมที่อยู่อาศัย
คนโสดสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยได้ด้วยการเลือกที่อยู่อาศัยที่มีขนาดเล็กลง หรือหากอาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่เพื่อคอยดูแลท่านก็อาจจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้เช่นกัน แล้วหันไปเน้นการลงทุนมากขึ้น แต่คนโสดที่ต้องการผู้ช่วยดูแลในยามเกษียณ อาจต้องมองหาบ้านสำหรับผู้สูงวัยเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นตั้งแต่หลักพันบาทไปถึงหลักหมื่นบาทต่อเดือน
แต่ไม่ว่าจะโสดหรือมีคู่ สิ่งสำคัญในการวางแผนการเงิน คือ การมีเป้าหมายที่ชัดเจน เริ่มตั้งแต่อายุน้อย ๆ และลงมือทำด้วยความสม่ำเสมอ เพราะเริ่มก่อนก็พร้อมก่อน ความโสดจ๋า! ฉันมาแล้ว!!
ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ, SCB, SCB EIC
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส