“คนไทยก็ลงทุนหุ้นกู้เยอะซะด้วย โดนเบี้ยวหนี้ก็ว้าวุ่นเลยทีนี้” เรื่องนี้ไม่ใช่ไวรัลที่กำลังฮิตในโลกโซเชียลมีเดีย แต่คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นกู้บ้านเราตอนนี้ โดยช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยสนใจการลงทุนในหุ้นกู้กันมากขึ้น และเทคโนโลยีการเงิน เช่น แอปพลิเคชันธนาคารต่าง ๆ ก็ช่วยให้นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงหุ้นกู้ได้ง่ายขึ้น นับเป็นความเฟื่องฟูของวงการ
ประโยคที่ว่า “หากรับความเสี่ยงได้น้อยให้ลงทุนหุ้นกู้” ก็อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้นักลงทุนหลายคนย้ายจากเงินฝากมาลงทุนหุ้นกู้ เนื่องจากผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากและความเสี่ยงที่น้อยกว่าหุ้นสามัญ แต่ข่าวการผิดนัดชำระหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนหลายแห่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ อาจทำให้นักลงทุนไทยต้องเพิ่มเกราะป้องกันหนา ๆ ด้วยการเสริมความรู้และพัฒนาทักษะการลงทุนในหุ้นกู้เพิ่มขึ้น
ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่า ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2566 มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยอยู่ที่ 16.4 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.1% จากสิ้นปี 2565 ขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม) พบสถิติการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้แล้วทั้งหมด 23 รุ่น จาก 7 บริษัท รวมมูลค่า 19,039 ล้านบาท
หากวันนี้คุณตกอยู่ในสถานะเจ้าหนี้หุ้นกู้ที่ถูกเบี้ยวหนี้ beartaiBRIEF ขอให้คุณหยุดว้าวุ่นก่อน และรีบตั้งสติแก้ปัญหาตาม 5 แนวทางนี้
1. ตามหาผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้โดยด่วน!
เมื่อถูกผิดนัดชำระหุ้นกู้ นักลงทุนไม่จำเป็นต้องไปทวงหนี้กับบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ด้วยตัวเอง เพราะ ‘ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้’ จะทำหน้าที่นั้นแทนเรา ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้ชำระหนี้ บังคับหลักประกัน และเรียกร้องค่าเสียหาย รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลต่าง ๆ
2. อ่าน Factsheet และ Filing
เราควรศึกษาข้อมูลสำคัญของตราสาร (Factsheet) และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ (Filing) อย่างละเอียดอีกครั้ง โดยตรวจสอบว่าหุ้นกู้ที่ถืออยู่ว่าเป็นประเภทไหน มีหลักประกันหรือไม่ เป็นหุ้นกู้ชนิดด้อยสิทธิ์หรือไม่ด้อยสิทธิ์ เพื่อให้รู้ลำดับการชำระหนี้ของเรา ซึ่งจะมีผลต่อสิทธิเรียกร้อง หรือการฟ้องบังคับชำระหนี้
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถค้นหา Factsheet และ Filing ของหุ้นกู้รุ่นที่ลงทุนได้จากแอปพลิเคชัน SEC Bond Check หรือเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. (คลิกที่นี่)
3. เตรียมหลักฐานการถือครองหุ้นกู้
แม้ว่าผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะเป็นบุคคลที่ช่วยดำเนินการในการฟ้องร้อง บังคับหลักประกัน บังคับชำระหนี้ และดำเนินการให้ผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ผู้ถือหุ้นกู้ควรจัดเตรียมเอกสารและหลักฐานการถือครองหุ้นกู้ไว้ให้พร้อมเสมอ เมื่อมีความจำเป็นต้องยืนยันสถานะการเป็นผู้ถือหุ้นกู้ก็จะสามารถทำได้ทันที
4. ตามติดการทำหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
เราควรติดตามความคืบหน้าการบังคับหลักประกันหรือบังคับชำระหนี้ จากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลต่าง ๆ กับผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขออนุมัติในการดำเนินการต่าง ๆ เช่น ขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ฟ้องร้องบังคับชำระหนี้ หรือบังคับหลักประกัน
5. ใช้สิทธิ์เข้ารวมประชุม
นักลงทุนควรศึกษาเอกสารการประชุมอย่างละเอียด รวมถึงเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองเพื่อซักถามผู้ออกหุ้นกู้ และวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบก่อนการตัดสินใจลงมติเสมอ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตนเองอย่างดีที่สุด
การลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ นักลงทุนต้องติดตามความเป็นไปของบริษัทที่เราลงทุนอย่างต่อเนื่อง และหมั่นปรับพอร์ตลงทุนให้เท่าทันกับสถานการณ์อยู่เสมอ เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นแล้ว ยังเป็นเกราะป้องกันความเสี่ยงชั้นดีให้กับเราได้อีกด้วย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส