วันที่ 19 กันยายน 2023 เวลา 11.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบกับ นายแลร์รี ฟิงก์ (Larry Fink) ซีอีโอกลุ่มบริษัท BlackRock ผู้นำในการบริหารการเงิน และการลงทุนของโลก เพื่อศึกษาแนวทางการลงทุนในประเทศไทย ทั้งในภาคการลงทุนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาดเพื่อขยายฐานการลงทุน และการผลิตในประเทศไทย
ทั้งนี้ ซีอีโอกลุ่มบริษัท BlackRock แสดงความสนใจที่จะลงทุนในพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Linked Bond) ที่จะออกโดยรัฐบาลไทยในปีหน้า และมีแนวโน้มในการลงทุนในบริษัทในประเทศไทยเร็ว ๆ นี้
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า BlackRock เป็นบริษัทจัดการลงทุนที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2023 อยู่ที่ 9.43 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทย 310 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ กองทุนขนาดใหญ่ของไทยหลายแห่ง เช่น ประกันสังคม และ กบข. ได้เข้าลงทุนผ่านการซื้อหน่วย Exchange Traded Fund (ETF) ของ BlackRock อย่างต่อเนื่อง
ต่อมาในเวลา 17.00 น. นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2023 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเน้นย้ำเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในการให้ความสำคัญที่จะดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs
นายกรัฐมนตรียังได้สนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ผ่านมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Stimulus) เป็นจำนวนเงิน 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี จนถึงปี 2030
สำหรับการดำเนินการของประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงิน 12,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ผ่านการกระตุ้นการกำหนดกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจของไทย
โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) ซึ่งมีบริษัทมากกว่า 100 บริษัททั่วประเทศ ตั้งเป้าขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะลงทุนจำนวน 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ภายในปี 2030
อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีมองว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจำเป็นต้องมีแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดยประเทศไทยพร้อมประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนี้
1. ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านหลักการไปให้ถึง และช่วยเหลือกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน รวมทั้งลดความยากจนในคนทุกช่วงวัยภายในปี 2027
2. ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมทางเพศสำหรับประชากรทุกคนในประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยมีมาตรการที่สำคัญ เช่น การตั้งเป้าหมายให้ครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนที่ยากจนหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ต้องมีจำนวนลดลงไม่เกินร้อยละ 0.25 ภายในปี 2027
3. ไทยประกาศความมุ่งมั่นที่จะผลักดันร่วมมือกับหุ้นส่วนความร่วมมือทุกระดับ ในการดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่เหมาะสม และมีความน่าเชื่อถือภายในปี 2030
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเปิดเผยอีกว่า นอกเหนือจากการเข้าร่วมประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2023 แล้ว การเดินทางมายังประเทศสหรัฐอเมริกาของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะเชิญชวนนักลงทุนจากสหรัฐฯ ให้เข้าไปลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากในช่วงเวลา 8 – 9 ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่จากนักลงทุนต่างชาติเลย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส