เงิน Digital Wallet 10,000 บาทจะเข้าวันไหน? คือคำถามยอดฮิตที่ทุกคนรอคำตอบจากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งออกมายืนยันแล้วว่า จะเร่งให้กระเป๋าเงินดิจิทัลได้ออกมาให้ใช้งานภายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567 เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน บรรเทาปัญหาปากท้อง และกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ด้วยเม็ดเงินกว่า 500,000 ล้านบาท
แล้วช่วงเวลานี้ พวกเรารู้อะไรเกี่ยวกับเงื่อนไขการใช้งาน Digital Wallet บ้าง? ถ้าดูข้อมูลจากพรรคเพื่อไทยจะเห็นว่า มีการกำหนดโจทย์สำหรับนโยบายนี้ไว้ 5 ประเด็นหลัก คือ
- ผู้ที่จะได้รับเงิน Digital Wallet 10,000 บาท กำหนดให้เป็นคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งคาดว่ามีอยู่ประมาณ 50 ล้านคน
- สินค้าที่ซื้อได้จะต้องเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- พื้นที่การใช้งาน Digital Wallet จะต้องเป็นร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการและอยู่ในระบบภาษี ซึ่งตั้งอยู่ภายในรัศมี 4 กิโลเมตร นับจากที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิ์รับเงิน อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีเศรษฐาระบุว่า จะมีการเปิดช่องให้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขระยะทางตามลักษณะภูมิประเทศได้ในบางพื้นที่
- สำหรับวิธีการใช้งานนั้น รัฐบาลจะโอนเงินเข้าแอปพลิเคชัน ‘กระเป๋าเงินดิจิทัล’ ให้กับผู้มีสิทธิ์รับเงินโดยตรง และไม่สามารถเบิกถอนเป็นเงินสดได้ สำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ตโฟน รัฐบาลอาจเปิดช่องให้ใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชนควบคู่กับรหัสส่วนตัว
- เงิน Digital Wallet 10,000 บาท จะสามารถใช้งานได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน หลังมาตรการมีผลบังคับใช้ โดยช่วงเวลาดังกล่าวจะครอบคลุมเทศกาลสงกรานต์ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายให้ได้ผลยิ่งขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัด
นอกเหนือจากประชาชนผู้มีสิทธิ์รับเงิน Digital Wallet 10,000 บาทแล้ว หลายคนอาจสงสัยว่ายังมีใครอีกบ้างที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ เนื่องจากโจทย์ของรัฐบาลคือกระตุ้นการใช้จ่ายครั้งใหญ่ภายในประเทศ เพื่อให้เกิดพายุหมุนในระบบเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าหมายว่า ต้องการให้เงิน 10,000 บาท หมุนได้ถึง 3 รอบ แล้วเงินดิจิทัลนี้จะหมุนไปสู่ธุรกิจอะไรบ้าง? ภาพที่ชัดเจนที่สุดคือธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง
ธุรกิจดังกล่าวคือการผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการใช้จ่ายผ่านนโยบาย Digital Wallet 10,000 บาท ดังนั้น ซัพพลายเชนในธุรกิจค้าปลีกค้าส่งจึงเป็นกลุ่มหลักที่จะได้รับประโยชน์ ไล่ตั้งแต่ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ ธุรกิจโมเดิร์นเทรด ร้านค้าส่ง ไปจนถึงร้านชำและร้านโชห่วยรายเล็กในท้องถิ่น
สำหรับธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของไทย อาทิ Central Group, CP Group, TCC, The Mall Group และกลุ่มสหพัฒนพิบูล โดยในปี 2564 จำนวนห้างค้าปลีกทุกประเภทของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่เหล่านี้ในประเทศไทยมีจำนวนรวมกันกว่า 17,000 แห่ง และมีการขยายต่อเนื่องทุกปี โดยมีมูลค่าตลาดรวม 2.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.7% ของ GDP รองจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีสัดส่วน 27%
ทั้งนี้ นอกเหนือจากธุรกิจค้าปลีกค้าส่งแล้ว ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตของผู้คนที่จะได้ประโยชน์จากนโยบาย Digital Wallet 10,000 บาท อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม ร้านอาหาร ธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพ การท่องเที่ยว ธุรกิจขนส่ง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครือข่ายโทรคมนาคม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน จะให้คำมั่นว่าภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 จะมีเงิน 10,000 บาทหมุนเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลของคนไทยอย่างแน่นอน แต่ประชาชนก็ต้องรอดูความชัดเจนและรายละเอียดของนโยบายอีกครั้ง ว่าจะตอบโจทย์การใช้งานจริงหรือไม่ รวมถึงจะเกิดประโยชน์กับธุรกิจอื่นใดอีกหรือเปล่า โดยเฉพาะแนวคิดการใช้งานบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลัง Digital Wallet
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส