วันที่ 27 กันยายน 2023 นายซุลกีฟลี ฮาซัน (Zulkifli Hasan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย เปิดเผยโดยอ้างอิงกฎระเบียบใหม่ว่า อินโดนีเซียได้สั่งห้ามทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อรับประกันการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นธรรมระหว่างตลาดอีคอมเมิร์ซและตลาดออฟไลน์ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ทันที
นายฮาซันระบุว่า การแข่งกันกดราคาสินค้าบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียกำลังคุกคามผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ดังนั้น การออกกฎระเบียบดังกล่าวจึงเป็นไปเพื่อปกป้องร้านค้าออฟไลน์ในประเทศ และสร้างการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นธรรม โดยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมีเวลาปรับตัวราว 1 สัปดาห์ ในการปรับตัวเพื่อปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่นี้
โดยก่อนหน้านี้ นายเจอร์รี ซัมบัวกา (Jerry Sambuaga) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย ระบุว่ารัฐบาลกำลังวางแผนห้ามการทำธุรกรรมสินค้าบนโซเชียลมีเดีย เนื่องจากมองว่าอีคอมเมิร์ซและโซเชียลมีเดียจำเป็นต้องแยกออกจากกัน โดยยกตัวอย่างการไลฟ์ (Live) จำหน่ายสินค้าใน TikTok ซึ่งตามกฎระเบียบใหม่นี้จะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป
ทั้งนี้ โฆษกของ TikTok ประจำประเทศอินโดนีเซียได้ออกมาให้ความเห็นว่า รัฐบาลควรพิจารณาถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพ่อค้าแม่ค้าท้องถิ่นกว่า 6 ล้านคนที่ใช้ TikTok Shop เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้า และการแยกโซเชียลมีเดียกับอีคอมเมิร์ซออกจากกันนั้น เป็นการขัดขวางนวัตกรรม ซึ่งจะส่งผลเสียกับธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงผู้บริโภคภายในประเทศมากกว่า
ปัจจุบัน อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับ TikTok Shop และเป็นตลาดแรกที่นำร่องกลุ่มอีคอมเมิร์ซของแอป โดยในปี 2022 ที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีผู้ใช้ TikTok เดือนละ 125 ล้านคน และ มีธุรกิจขนาดเล็กเปิดร้านขายสินค้าบน TikTok Shop ประมาณ 2,000,000 ราย ซึ่งสร้างมูลค่าธุรกรรมอีคอมเมิร์ซอยู่ที่เกือบ 52,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่ง 5% ของจำนวนดังกล่าวเกิดขึ้นบน TikTok โดยเฉพาะผ่านการไลฟ์
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส