แม้ว่าคนไทยจำนวน 90% จะซื้อบ้านด้วยวิธีการกู้หรือการขอสินเชื่อจากธนาคาร แต่เราก็ยังเห็นยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้านในบางพื้นที่ที่สูงถึง 50% และเกิดความสงสัยว่ามีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำเรากู้บ้านไม่ผ่าน? คำตอบที่ได้รับจากธนาคารมักจะเป็น “ความสามารถในการชำระหนี้ของคุณมีไม่เพียงพอ” ซึ่งธนาคารจะพิจารณาเหตุผลดังกล่าวจากปัจจัยดังต่อไปนี้

1. รายได้น้อย ไม่มีเงินออม : หากคุณมีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท มีพฤติกรรมใช้เงินแบบเดือนชนเดือน ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อได้ เพราะข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่าเงินที่เหลือจากการใช้จ่าย อาจไม่เพียงพอที่จะผ่อนชำระหนี้บ้านได้ ยิ่งต้องการขอสินเชื่อวงเงินสูงเกินความสามารถที่จะผ่อนได้ ก็ยิ่งมีโอกาสถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อสูงขึ้น

2. หนี้เยอะ กู้บ่อย : ‘ภาระหนี้’ เป็นหนึ่งในรายจ่ายประจำที่จะถูกนำมาคำนวณความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งหากผู้กู้ยังมีภาระการผ่อนชำระหนี้จำนวนมาก มีหนี้บัตรเครดิตที่ต้องผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรหลายใบ หรือหนี้ของสินเชื่อบุคคล ซึ่งมีภาระหนี้เทียบกับรายได้ หรือเกินกว่า 50% ก็เป็นอีกเหตุผลที่อาจถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อ ยิ่งถ้าเป็นคนที่กดเงินสดจากบัตรเครดิตบ่อยครั้ง ก็ยิ่งทำให้ธนาคารไม่มั่นใจในฐานะการเงินของเราเข้าไปอีก

3. เครดิตบูโร : สิ่งนี้จะสะท้อนวินัยทางการเงินในการชำระหนี้ของเรา เพราะหากมีการผิดนัดชำระหนี้ ข้อมูลก็จะแสดงออกมาทางข้อมูลเครดิต ที่ธนาคารจะนำมาพิจารณาในการปล่อยสินเชื่อด้วย

4. ติดค้ำประกัน : แม้ว่าเราจะไม่ได้ก่อหนี้เอง แต่เพียงแค่เป็นผู้ค้ำประกัน ธนาคารก็จะนำมาคิดเป็นภาระหนี้ของเราร่วมด้วย หากเกิดกรณีที่ผู้ก่อหนี้ไม่ใช้หนี้คืน ภาระนั้นจะตกมาที่ผู้ค้ำโดยปริยาย

5. อาชีพไม่มั่นคง  : ฟรีแลนซ์ รับจ้าง หรือขายของออนไลน์ คือกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงรายได้ผันผวน แม้ว่าจะยื่นขอสินเชื่อได้และอาจไม่ถึงกับถูกปฏิเสธโดยทันที แต่ธนาคารจะนำมาพิจารณาถึงความเสี่ยงกรณีที่รายได้ไม่สม่ำเสมอว่า จะสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดหรือไม่ ซึ่งจุดนี้ทำให้มนุษย์เงินเดือนอาจมีภาษีดีกว่าฟรีแลนซ์ตรงที่ความสม่ำเสมอของรายได้ 

5 วิธีเพิ่มโอกาสให้กู้บ้านผ่านฉลุย!

1. เลือกซื้อบ้านในราคาที่เหมาะสมกับรายได้ เช่น หากมีรายได้ 15,000 บาท จะกู้บ้านได้ราคาประมาณ 900,000 บาท หากมีรายได้ 20,000 บาท ก็ควรเลือกซื้อบ้านที่ราคาไม่เกิน 1,200,000 บาท ซึ่งจะผ่อนชำระได้ประมาณเดือนละ 8,000 บาท หรือหากต้องการซื้อบ้านราคาสูงกว่านี้ อาจจะต้องมีผู้กู้ร่วม

2. ไม่ก่อหนี้เกินตัว โดยสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ไม่ควรเกิน 50% และหากผ่อนบ้านอย่างเดียวก็ไม่ควรเกิน 40% ฉะนั้น หากมีหนี้สินติดตัว เช่น การผ่อนสินค้าหรือสินเชื่อบุคคล ควรเคลียร์หนี้ให้เรียบร้อยก่อน เพื่อเพิ่มความสามารถชำระหนี้ได้มากขึ้น

3. มีวินัยชำระหนี้เพื่อรักษาสถานะเครดิตบูโรที่ดี หลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระ รวมถึงการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตเป็นระยะเวลานาน ๆ เพราะพฤติกรรมวินัยการชำระหนี้เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ธนาคารจะพิจารณาให้กู้

4. คิดก่อนค้ำประกันเงินกู้ให้คนอื่น ยิ่งวงเงินมาก ๆ ยิ่งควรคิดให้ดี ๆ เพราะวงเงินกู้ของคนอื่นจะถูกนำมาพิจารณาความเสี่ยงภาระหนี้ของเราด้วย ในกรณีคนที่ขอให้เราค้ำประกันหนีหนี้ไป

5. ใช้จ่ายให้น้อยกว่ารายได้ จะสะท้อนสภาพคล่องและเงินออมให้ธนาคารมั่นใจว่า รายได้ของเรามีเงินเหลือเก็บในระดับที่สามารถชำระหนี้ที่ดี เพราะรายการเดินบัญชีย้อนหลัง หรือ Statement ที่ธนาคารขอไปจะแสดงให้เห็นว่า เราใช้เงินเดือนชนเดือนอยู่ไหม แล้วหากมีหนี้บ้านเพิ่มขึ้นจะผ่อนชำระไหวหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าใครอาจจะเคยมีประวัติเครดิตบูโรที่ไม่สวยงาม ไม่ว่าจะเกิดจากเหตุสุดวิสัยต่าง ๆ แต่หากมีความตั้งใจชำระหนี้ที่ดี ตั้งใจทำงานหารายได้เพิ่มจนสามารถกลับมามีเงินออมได้ เชื่อว่าธนาคารจะไม่มองข้ามความตั้งใจและวินัยการเงินที่ดี ซึ่งการเงินที่ดีเริ่มได้ตั้งแต่วันนี้เลย

ที่มา : Krungsri, SENA

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส