มีหลายคนที่ต้องมาเดือดร้อน ‘แบกหนี้’ จากการที่เราตัดสินใจไปเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้คนอื่น เพราะการเป็นผู้ค้ำประกัน ก็เหมือนการเข้าไปการันตีให้คน ๆ หนึ่งว่าเขาเป็นคนมีความสามารถ ซึ่งการค้ำประกันส่วนใหญ่จะเป็นการค้ำประกันสินเชื่อ ก็หมายความว่าเราเข้าไปการันตีว่า คน ๆ นั้น มีความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งหากลูกหนี้มีปัญหา เจ้าหนี้ก็มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบ
คิดก่อนค้ำ : เมื่อถูกขอให้ค้ำประกันสินเชื่อ หมายความว่าเราอาจจะต้องเข้าไปร่วมรับผิดชอบกับคน ๆ นั้นด้วย ก่อนตัดสินใจก็ต้องพิจารณาให้ดี
- ดูคนที่เราค้ำประกันให้ว่า มีความรับผิดชอบแค่ไหน มีความสามารถในการชำระหนี้ได้หรือไม่
- ดูยอดหนี้ เพราะหนี้ก้อนนั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นภาระของเราในอนาคตหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน และหากยอดหนี้สูงเกินกว่าที่เราจะรับได้ แนะนำว่าควรปฏิเสธ
- หากไม่สามารถปฏิเสธในการเป็นผู้ค้ำประกันได้ ก็ควรมีเงื่อนไขหรือสัญญาร่วมกันก่อนเซ็นเอกสารบางอย่าง เพื่อรักษาสิทธิของเราด้วย เช่น หากคน ๆ นั้นสุขภาพไม่ดี หรือทำงานที่มีความเสี่ยงต่อการทุพพลภาพ ก็ควรแนะนำให้คน ๆ นั้นทำประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการทุพพลภาพที่มีวงเงินที่ครอบคลุมยอดหนี้ทั้งหมด
กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้: ผู้ค้ำประกันมีสิทธิ์ปฏิเสธการรับผิดได้ เนื่องจาก
- กฎหมายใหม่ กำหนดว่าผู้ค้ำประกันไม่ใช่ลูกหนี้ร่วมที่จะเรียกชำระหนี้แทนกันได้ โดยหน้าที่ของเจ้าหนี้ จะต้องบอกกล่าวกับผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน
- หากเจ้าหนี้มาทวงถามหนี้ผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำฯ มีสิทธิที่จะให้เจ้าหนี้ไปตามหนี้กับลูกหนี้ต้นก่อน
- หากลูกหนี้ยังมีความสามารถชำระหนี้อยู่ เช่น ยังมีทรัพย์สิน ผู้ค้ำฯ สามารถให้เจ้าหนี้ไปตามบังคับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ต้นก่อน
กรณีถูกฟ้องในฐานะผู้ค้ำประกัน : หากเข้าสู่ขั้นตอนการฟ้องร้อง ผู้ค้ำประกันจะต้องเข้าไปผูกพันกับปัญหานี้แล้ว ควรตื่นตัว และใช้สิทธิขึ้นศาลในการต่อสู้คดี อย่ากลัวหรือละเลย ไม่เช่นนั้นอาจจะกลายเป็นนายแบก (หนี้) ภายหลัง ซึ่งเรื่องนี้อาจจะมีค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายบ้าง แต่น่าจะคุ้มค่า หากเป็นกรณีที่ยอดหนี้สูง ๆ หลักแสนหลักล้าน ทั้งนี้ ผู้ค้ำประกันมีโอกาสชนะคดีได้ โดยมีกรณีศึกษามาแล้ว เช่น
- เจ้าหนี้ไม่แจ้งบอกกล่าวภายใน 60 วัน หลังจากมีการผิดนัดชำระหนี้
- เจ้าหนี้และลูกหนี้มีการเปลี่ยนแปลงสัญญา เช่น รีไฟแนนซ์ปรับโครงสร้างหนี้ โดยที่ผู้ค้ำประกันไม่ทราบเรื่อง
- ข้อสัญญาที่ให้ผู้ค้ำประกันรับภาระหนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น จาก 100,000 บาทเป็น 1,000,000 บาท สามารถต่อสู้ได้ว่า เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ค้ำประกัน
- เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกันเอง โดยไม่มีเหตุอ้างกฎหมาย ซึ่งจุดนี้ก็ถือว่าหลุดพ้นจากการรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันโดยปริยาย
ท้ายที่สุด ถ้าถูกฟ้องร้องในฐานะผู้ค้ำประกันอันไม่มีอะไรมาแก้ต่างได้ ผู้ค้ำประกันก็สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยเจ้าหนี้ เพื่อลดวงเงินชำระหนี้ได้ ซึ่งเมื่อผู้ค้ำฯ จ่ายหนี้แทน ผู้ค้ำฯ เองก็มีสิทธิเป็นเจ้าหนี้ที่จะไปเรียกร้องเอาเงินคืนจากลูกหนี้รายนั้นต่อได้ตามจำนวนที่ชำระไป ตลอดจนค่าเสียหายที่เกิดจากการค้ำประกัน แต่เอาจริง ๆ เรื่องนี้ก็อย่าให้ถึงตอนที่ต้องไปแบกรับหนี้แทนผู้อื่นเลย ขอให้คิดให้ดี ก่อนค้ำประกันให้ใครดีกว่า
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส