หนึ่งในเครื่องมือการบริหารเงินที่มนุษย์เงินเดือน หรือแม้จะไม่ใช่มนุษย์เงินเดือนต้องมีก็คือ ‘ประกันสังคม’ เครื่องมือที่จะมาช่วยสร้างความอุ่นใจในยามจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุบัติเหตุ เจ็บป่วย คลอดบุตร หรือชราภาพ ซึ่งอาจสร้างปัญหาทางการเงินในอนาคตให้กับเราได้ หากไม่มีการจัดการหรือแผนสำรองมารองรับ
ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาสิทธิที่ควรได้ ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ประกันตนในมาตราใดก็ตาม ทั้งมาตรา 33 หรือมาตรา 39 ก็ไม่ควรขาดการนำส่งเงินสมทบให้กับกองทุนประกันสังคม เพราะเงินก้อนนี้เปรียบเสมือนเงินในอนาคตที่เราอาจจำเป็นต้องใช้สักวันหนึ่ง จึงควรเก็บสะสมให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยในวันที่มีกำลัง
แต่หากเกิดเหตุสุดวิสัยที่จะต้องขาดส่งเงินสมทบขึ้นมาในวันหนึ่งวันใด เราควรทำอย่างไร? เพื่อไม่ให้ถูกตัดสิทธิ์ หรือหลุดออกจากวงจรประกันสังคม บทความนี้จะ BRIEF ให้คุณฟัง
ผู้ประกันตนตามมาตรา 33
สำหรับมนุษย์เงินเดือนหรือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เป็นกลุ่มที่อาจจะสะดวกสบายมากกว่าใคร เพราะหน้าที่การนำส่งเงินสมทบจะเป็นความรับผิดชอบของนายจ้าง หากนายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้ลูกจ้าง จะมีความผิด ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น ปัญหาการขาดส่งเงินสมทบแทบไม่มี ยกเว้นว่า เราจะลาออกเอง หรือสิ้นสภาพการจ้างงานด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ลาออก โดนให้ออก หรือสิ้นสุดสภาพการเป็นมนุษย์เงินเดือน ก็ไม่ต้องตกใจไป หากเรานำส่งเงินสมทบมาแล้วนานเกิน 12 เดือน สิทธิของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของเราจะยังไม่สิ้นสุดลงเสียทีเดียว เพราะสำนักงานประกันสังคมให้ระยะเวลาคุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน
หลังจากนั้น หากยังต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมให้ต่อเนื่อง ก็สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 แทนภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ออกจากงาน เพื่อคงสถานะการผู้ประกันตนไว้ด้วยสิทธิรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นสิทธิประกันสังคมเช่นเดียวกับผู้ประกันมาตรา 33 ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นภาคสมัครใจที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะต้องเป็นผู้นำส่งเงินสมทบด้วยตัวเอง
ผู้ประกันตนตามมาตรา 39
เมื่อเรากลายผู้นำส่งเงินสมทบด้วยตัวเอง หรือผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ่งที่ต้องระวังคือในมาตรานี้คือ ผู้ประกันตนห้ามขาดส่งเงินสมทบติดต่อกันเป็นเวลามากกว่า 3 เดือน หรือขาดส่งแบบฟันหลอ โดยในรอบ 12 เดือน หากผู้ประกันตนมาตรา 39 ขาดส่งไป 9 เดือน ก็จะถูกตัดสิทธิการเป็นผู้ประกันตนทันที ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาการลืมนำส่งเงินสมทบก็ควรสมัครระบบหักเงินสมทบผ่านบัญชีธนาคารเอาไว้ หรือลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ LINE สำนักงานประกันสังคมเพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อครบกำหนด
สรุปแล้วว่า หากผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ขาดส่งเงินสมทบก็ใช่ว่าจะโดนตัดสิทธิ์ทันที หรือหากจำเป็นจริง ๆ ก็ยังขาดส่งได้บ้าง แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาที่กำหนดนั่นเอง และในกรณีสุดวิสัยที่ทำให้ต้องขาดส่งนานเกินกำหนดจนถูกตัดสิทธิ์ไปแล้ว เราก็สามารถอุทธรณ์ได้ หากมีหลักฐานยืนยันสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถไปชำระได้จริง ๆ เช่น ใบรับรองแพทย์
อย่างไรก็ตาม แม้สิทธิผู้ประกันตนมาตรา 39 จะหลุดไป หากเราอายุยังไม่ถึง 60 ปี และสามารถกลับเข้าทำงานในระบบได้ เราก็สามารถกลับเข้ามาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้อีกครั้ง ฟังแบบนี้แล้วเชื่อว่าผู้ประกันตนทั้งหลายจะสบายใจมากขึ้น และดูแลสิทธิในฐานะผู้ประกันตนของตัวเองให้อยู่ยาวนาน เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินพื้นฐานที่มั่นคง
ที่มา : สำนักงานประกันสังคม, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส