ยินดีด้วย! สำหรับใครที่ได้รับ “โบนัส” เป็นรางวัลในการทำงานตลอดปี 2566 ที่กำลังจะหมดไป และแน่นอนว่าเมื่อมีรายได้พิเศษเข้ามาเป็นของขวัญรับศักราชใหม่ที่กำลังจะมาถึง ไม่ว่าจะเป็นเงินก้อนเล็กหรือใหญ่ คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาคือ จะใช้ทำอะไรดี ? บทความนี้ #beartaiBRIEF เปิดเผย 5 เทคนิคบริหารเงินโบนัสให้คุ้มค่าที่สุด
สำหรับเงินโบนัส ถ้าใครจะใช้ซื้อความสุขในรูปแบบของตัวเองก็สามารถทำได้ แต่หากมีการวางแผนทางการเงินอย่างมีหลักการมากขึ้น เงินพิเศษก้อนนี้ก็จะถูกใช้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น โดยพื้นฐานแล้วก็อาจใช้จ่ายทั่วไป ชำระหนี้ ฝากธนาคาร แปลงเป็นเงินลงทุน หรือเป็นเงินเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
เมื่อจุดประสงค์ในการใช้เงินมีความหลากหลาย ลองสมมติให้โบนัสก้อนนี้เป็นเค้กก้อนหนึ่ง แล้วนำมาตัดแบ่งเพื่อจัดสรร และตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละคน โดยบทความนี้จะอาศัยเทคนิคจัดการเงินโบนัสของ สมาคมนักวางแผนการเงิน ที่ได้แบ่งเค้กก้อนพิเศษนี้ออกเป็น 5 ชิ้น ประกอบด้วย
ชิ้นที่ 1: รางวัลเพื่อตัวเอง
ใช้จ่ายเพื่อตัวเองหรือครอบครัว เพื่อตอบแทนความตั้งใจในการทำงานตลอดปีที่ผ่านมา โดยแบ่งสัดส่วน 10-20% ของเงินโบนัสที่ได้ อาจช้อปโทรศัพท์รุ่นใหม่ที่เล็งไว้มานาน จัดทริปท่องเที่ยวสุดฟิน พาครอบครัวไปชิมอาหารร้านดัง ซึ่งเค้กชิ้นนี้ถือเป็นชิ้นที่ดีต่อใจ เมื่อใช้ทันทีก็หมดทันที
ชิ้นที่ 2: ชำระหนี้
สำหรับคนที่มีภาระหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นหนี้รถ หนี้บ้าน บัตรเครดิต หรือสินเชื่อบุคคล การนำเงินโบนัสไปลดหรือปลดหนี้ ถือเป็นหนึ่งในวิธีลดภาระหนี้สินของคนส่วนใหญ่ ดังนั้น เค้กชิ้นนี้จึงค่อนข้างใหญ่ อาจมีสัดส่วนประมาณ 50-70% ของเงินโบนัส โดยแนะนำให้นำไปใช้หนี้ที่ดอกเบี้ยสูงก่อน เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อลดภาระทางการเงิน
ชิ้นที่ 3: เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน
เพราะโรคระบาดในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นบทเรียนทางการเงินราคาแพงให้ใครหลายคนได้ตระหนักถึงการเก็บเงินสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรือในสถานการณ์ไม่คาดคิด ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว เราควรมีเงินสำรองให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในช่วง 6 เดือนข้างหน้า และควรเป็นเงินที่มีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝาก ที่สามารถนำออกมาใช้ได้ทันทีเมื่อจำเป็น
ชิ้นที่ 4: เงินออมหรือลงทุน
สำหรับผู้ที่ต้องการนำเงินโบนัสไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อต่อยอดเงินต้นให้งอกเงยเพิ่มขึ้นในอนาคต ต้องศึกษาข้อมูลการลงทุนอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะความเสี่ยงและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพราะหากขาดทุน เงินต้นที่ได้จากโบนัสก็จะหดหายไปด้วย โดยเค้กชิ้นนี้อาจมีสัดส่วนประมาณ 10-30% ของเงินโบนัส ขึ้นอยู่กับประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน ระยะเวลาที่ลงทุน อัตราผลตอบแทน และระดับความเสี่ยง ซึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำไปถึงสูง ไล่ตั้งแต่เงินฝาก ตราสารหนี้ กองทุนรวม และหุ้น
ชิ้นที่ 5: สร้าง Passive Income
Passive Income หรือรายได้ที่จะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอหลังจากที่ได้ลงทุนลงแรงไปแล้ว เช่น นำเงินโบนัสที่ได้ไปดาวน์คอนโดมิเนียมเพื่อปล่อยเช่า เขียนนิยายออนไลน์ หรือ e-book นอกจากนี้ การออมหรือการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ ที่ให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ เช่น ดอกเบี้ยรับ หรือเงินปันผลในแต่ละปี ก็เป็น Passive Income ในรูปแบบหนึ่งเช่นกัน
ทั้งนี้ การจัดสรรเค้กแต่ละชิ้นอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ทางการเงินของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม หากเรามีการวางแผนทางการเงินอย่างเหมาะสม นอกจากการใช้จ่ายจะสร้างความสุขให้เราในวันนี้แล้ว จะสามารถสร้างคุณค่าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตและเงินโบนัสประจำปีก็จะมีความพิเศษมากยิ่งขึ้น
ที่มา : สมาคมนักวางแผนการเงิน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส