New Year’s Resolutions ยอดนิยมของชาวอเมริกันในปี 2024 คือ ‘การเก็บเงิน’ ซึ่งความฮอตฮิตของปณิธานนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากบ้านเรามากนัก รวมถึงอีกหนึ่งความเหมือนคือ ‘การเก็บเงิน’ เป็นปณิธานที่น้อยคนนักจะทำได้สำเร็จ สะท้อนได้จากการที่มีคนตั้งปณิธานเรื่องนี้กันทุกปี
แต่เรื่องนี้เราอย่าเพิ่งรีบร้อนโทษตัวเองว่าไม่มีวินัยในการเก็บเงินเพียงพอ เพราะเป้าหมายที่ตั้งไว้อาจเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ยากจะทำได้สำเร็จ โดยการหักดิบ เลิกช้อป เลิกเที่ยว ทางที่ดีเราจึงควรเริ่มต้นจากเป้าหมายเล็ก ๆ และค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเอง ซึ่งบทความนี้จะมาแชร์เคล็ดลับและเทคนิคการใช้เงินด้วย ‘กฎ 30 วัน’ ที่จะทำให้คุณยังช้อปได้ในแบบที่ยังมีเงินเก็บด้วย
กฎ 30 วัน
ปัจจุบัน พวกเราถูกกระตุ้นด้วยสื่อโฆษณาต่าง ๆ และสารพัดคอนเทนต์ในโลกโซเชียลมีเดียที่ทำให้เกิดการซื้อขายกันได้ง่าย ๆ ผ่านสมาร์ตโฟน จนบางครั้งเราอาจจะเผลอซื้อของบางอย่างที่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าอยากได้ด้วยซ้ำ ซึ่งความหุนหันโอนไวปานสายฟ้านี้ สามารถระงับลงได้ด้วย ‘กฎ 30 วัน’ หรือการหยุดรอที่จะไม่ซื้อของนั้น ๆ แล้วเมื่อผ่านไป 30 วันแล้ว หากคุณพบว่ายังอยากซื้อของชิ้นนั้นอยู่อีก คุณก็ซื้อเลย
กฎ 30 วัน จะใช้ได้กับของที่คุณไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะต้องซื้อ ไม่ได้เป็นของที่เพิ่งหักพังเสียหายที่ต้องซื้อมาทดแทน ว่าง่าย ๆ คือเป็นของที่คุณกำลังจะซื้อโดยใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งมากกว่าเหตุผลและความจำเป็น เช่น เห็นคลิปรีวิวผ่านตาแล้วรู้สึกว่าของชิ้นนั้นน่าสนใจ เดินผ่านเคาน์เตอร์เครื่องสำอางแล้ว BA เรียกไปทดลองสินค้า หรือแม้แต่การเปิดตัวอุปกรณ์ใหม่ ๆ ในช่วงต้นปีที่ทำให้หลายคนตื่นเต้น ซึ่งการรีบร้อนซื้อของด้วยอารมณ์แบบนี้ย่อมนำ ‘ภาระ’ มาสู่เงินออมของคุณในอนาคต รวมถึงการสั่นคลอน New Year’s Resolutions ให้ไม่ประสบความสำเร็จ
ส่วนใครที่กลัวว่าจะพลาดโอกาสของดีราคาถูก เพราะต้องรอ 30 วัน เรื่องนี้ผู้เขียนมองว่าก็ไม่น่ากังวลมากนัก เพราะหลายแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจัดแคมเปญลดราคาต่อเนื่องทุกเดือนอยู่แล้ว ทั้ง Pay Day Sale หรือการลดราคาวันเงินเดือนออก และวันเลขซ้ำทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น 6.6, 7.7, 8.8, 9.9 หรือ 11.11 เรียกว่าไม่ต้องกลัวพลาดโอกาสของดีราคาถูกเลย
ดังนั้น เมื่อเจอของที่อยากได้ให้ลองจดใส่ Wish List หรือรายการของที่อยากได้ไว้ก่อน และตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในอีก 30 วันข้างหน้าจะกลับมาซื้อแน่นอน เมื่อถึงเวลานั้น หากคุณยังมีความรู้สึกว่าอยากได้ของอยู่เหมือนเดิม คุณก็ซื้อเลย แต่ในทางกลับกัน หากคุณไม่ได้รู้สึกอยากได้ของชิ้นนั้นแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่คุณจะไม่ซื้อ เพราะคุณก็สามารถใช้ชีวิตมาได้นานตั้ง 30 วัน โดยที่ไม่มีของชิ้นนั้น
กฎ 30 วัน ฉบับอัปเกรด
เพื่อให้ New Year’s Resolutions ด้านการเก็บเงินประสบความสำเร็จ เราสามารถอัปเกรดกฎ 30 วัน ด้วยการย้ายเงินสำหรับการซื้อของที่ต้องการไปไว้ในบัญชีแยกต่างหาก โดยจะต้องเป็นบัญชีออมทรัพย์ที่แยกออกจากเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เพื่อให้คุณได้ทดลองดูก่อนว่า หากซื้อของชิ้นนั้นไปแล้ว สถานะการเงินของคุณในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร มีเงินเพียงพอใช้หรือไม่ และในระหว่าง 30 วัน หากมีเหตุไม่คาดคิดเข้ามาและเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไม่เพียงพอ คุณอาจจะพบว่าเงินก้อนนี้เป็นตัวช่วยที่ดีมากก็เป็นได้
บทความนี้ผู้เขียนขอเสริมอีกหนึ่งเคล็ดลับที่จะช่วยให้คุณมีเงินเพิ่มขึ้นสำหรับการซื้อของที่อยากได้ (หลังจากรอครบ 30 วันแล้วนะ!) นั่นก็คือ ‘การเก็บเศษเงินทอน’ ในระหว่าง 30 วัน หากมีการใช้จ่ายด้วยเงินสดและได้รับเงินทอนกลับมาก็ให้นำเงินนั้นไปรวบรวมเก็บไว้ในกระปุกออมสิน ส่วนใครที่เป็นสาย Cashless ไม่ใช้เงินสด ไม่มีเงินทอน ก็สามารถโอนเงินในหลักสิบหรือหนักหน่วย (ตามกำลังที่เราไหว) เพื่อปัดเศษยอดเงินในบัญชีให้เป็นศูนย์ทุก ๆ วัน แค่นี้เราก็จะได้เงินเก็บเพิ่มขึ้นแล้ว
ที่มา : Chime
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส