จากที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ซึ่งได้รับเงินส่วนแบ่งกำไร หรือผลประโยชน์อื่นที่ได้รับจากการถือครอง โดยให้หักเป็นภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% เท่านั้น และไม่ต้องนำส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์อื่นมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก ให้มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ซึ่งมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมแทนนายกรัฐมนตรี

ซึ่งโทเคนดิจิทัล (Digital Token) คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุน (investment token) วิธีจะคล้ายกับการที่เราซื้อหุ้น IPO ในตลาดแรก หรืออีกวิธีคือ สิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการหรือสิทธิอื่นๆ (utility token) ตามที่ได้ตกลงกับผู้ออกโทเคน ซึ่งอาจเสนอขายโทเคนผ่านกระบวนการ Initial Coin Offering (ICO) ซึ่งเป็นการระดมทุนรูปแบบหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย

และ นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เผยว่า “มาตรการนี้จะทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านการเป็นศูนย์กลางการระดมทุนเพิ่มขึ้น และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยมีทางเลือก ในการระดมทุนด้วย Investment Token เพิ่มเติมจากการระดมทุนด้วยเครื่องมือดั้งเดิม อันจะส่งผลดีต่อการระดมทุน การลงทุน” ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการดูแล Investment Token ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกับหลักทรัพย์ทั่วไป และเป็นไปตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนด้วย Investment Token ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร

แม้ว่าตามคาดการณ์จากกระทรวงการคลัง ยกเว้นภาษีเงินได้จากการถือครองโทเคนดิจิทัลดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ราวปีละ 50 ล้านบาท ขณะที่ทางฝั่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) วิเคราะห์ว่าในปี 2567 อาจส่งผลดีต่อภาคธุรกิจเอกชน เพิ่มการระดมทุน การจ้างงาน ตลอดจนสนับสนุนให้ไทยเป็น Digital Asset Hub เพราะจะมีการระดมทุนผ่านการออกและเสนอขายของ Investment Token ราว 18,500 ล้านบาท