วันที่ 10 เมษายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง พร้อมด้วย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบาย โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า รัฐบาลได้กำหนดรายละเอียดแนวทางในการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต เอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยมีเงื่อนไขสำคัญ ดังนี้
เกณฑ์ผู้รับสิทธิ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าว โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยกำหนด กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยจะมีเกณฑ์ ได้แก่
- อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน
- ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี (เงินเดือนไม่เกิน 70,000 บาท)
- มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง เกษตรกร เป็นต้น
เงื่อนไขการใช้จ่าย ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
- กลุ่มแรก ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
- กลุ่มที่สอง ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอ และขนาดของร้านค้าการใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ
- การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบแรกจะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้นก่อน (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า
- ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ easy e-receipt สามาถเข้าร่วมได้ เพราะเป็นคนละโครงการกัน
ประเภทสินค้า
- สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้
- ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม
ได้รับเงินผ่านช่องทางใด
ซูเปอร์แอปฯ ซึ่งเป็นระบบที่รัฐบาลพัฒนาขึ้นเอง และใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ได้ ไม่ใช่แอปเป๋าตังเดิม
เกณฑ์ร้านค้าที่เข้าร่วม
เป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีต่าง ๆ อาทิ
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT)
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย
โดยที่ทางร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
แหล่งที่มาจากเงินงบประมาณปี 67-68
แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
- งบประมาณปี 2567 การบริหารจัดการ จำนวน 175,000 ล้านบาท
- เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท
- เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จากโครงการจากหน่วยงานของรัฐ(ธ.ก.ส.) จำนวน 172,300 ล้านบาท
ช่วงเวลาของโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
ช่วงเวลาการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และประชาชนจะได้รับดิจิทัลวอลเล็ต เริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
อย่างไรก็ตาม การป้องกันการทุจริตของโครงการฯ เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริต คณะกรรมการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบ วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ รวมถึงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง