กลุ่มหุ้นในอุตสาหกรรมเคป็อปทำผลตอบแทนไม่ค่อยสู้ดี ตั้งแต่ปี 2024 ซึ่งนำโดยหุ้นเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ (JYP Entertainment) ที่เป็นผู้นำในการขาดทุนครั้งนี้ และสูญเสียมูลค่าตลาดมากถึงหนึ่งในสาม แต่ทางโกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) กลับมองเห็นถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมนี้ จากยอดคอนเสิร์ตที่มีผู้ชมเพิ่มขึ้น
ทำไมหุ้นเคป็อปถึงน่าสนใจ สำหรับนักลงทุน
เพราะวงการเคป็อป ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดและสร้างรายได้สูงสุดให้แก่ประเทศเกาหลีใต้ โดยการเติบโตของอุตสาหกรรมเคป็อปนี้ เกิดจากการผลักดันด้านซอฟต์พาวเวอร์อย่างจริงจังของภาครัฐ จนทำให้เกิดกระแสความคลั่งไคล้ K-POP ไปทั่วโลก
ซึ่งเรียกว่า กระแสฮันรยู หรือ คลื่นวัฒนธรรมเกาหลี ที่ขยายวงอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วโลก จนทำให้วงการเพลง ซีรีส์ และภาพยนตร์ กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเกาหลี
ด้วยแรงผลักดันนี้เอง ทำให้เพลงเคป็อป มียอดผู้เข้าชมและยอดจำหน่ายสูง จนเรียกได้ว่า มักจะเห็นเพลงเกาหลีติดชาร์ต Billboard Hot 100 ของอเมริกาอยู่เสมอ ๆ
สถานการณ์หุ้นบิ๊กโฟร์ K-POP
หุ้นของ 4 บริษัทใหญ่ ของเคป็อป ซึ่งจดทะเบียนในดัชนีคอมโพสิต ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (KOSPI) ร่วงลงทั้งหมด เมื่อเทียบเป็นรายปี YTD (Year To Date) โดยหุ้นของ JYP Entertainment ลดลงกว่า 37% ในขณะที่ YG Entertainment ค่ายแม่ของสาว ๆ BLACKPINK ร่วงเกือบ 17%
ขณะที่หุ้นบริษัท Hybe ซึ่งเป็นค่ายของซุปเปอร์สตาร์ BTS และไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป Newjeans ลดลงเล็กน้อยประมาณ 4.5%
และสุดท้าย หุ้นของ SM Entertainment ร่วงลงกว่า 17% ซึ่งคาดว่าเกิดจาก ดราม่าเกี่ยวกับคาริน่า (KARINA) นักร้องและนักเต้นชาวเกาหลีใต้ ผู้เป็นลีดเดอร์แห่งวง aespa ที่มีข่าวการเดทกับ อีแจอุค ดาราหนุ่ม ทำให้มูลค่าทางการตลาดของ SM หายไปกว่า 50 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1,835 ล้านบาท) เนื่องจากมีแฟน ๆ ชาวจีน ขู่ว่าจะคว่ำบาตรอัลบั้มของวง aespa
การประเมินบริษัทใหม่จาก Goldman Sachs
อย่างไรก็ตาม โกลด์แมน แซคส์กล่าวว่า ทางบริษัทได้มองเห็นศักยภาพสูงในการประเมินมูลค่าใหม่ของพวกบริษัทเหล่านี้ เนื่องจาก บริษัทเคป็อปต่าง ๆ ยังคงให้ผลกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่องหลายปี สำหรับปี 2023 ซึ่งทั้ง 4 บริษัท (JYP Entertainment, YG Entertainment, Hybe, SM Entertainment) มีการประกาศรายได้ทั้งปีและกำไรสุทธิที่เพิ่มสูงขึ้น
โกลด์แมน แซคส์ วิเคราะห์ว่า รายได้หลักของบริษัทนั้นเชื่อมโยงกับการขายอัลบั้มของศิลปิน ซึ่งในอดีต ยอดขายอัลบั้มถือเป็นตัวชี้วัด สำหรับจำนวนแฟนคลับ และโอกาสของบริษัทในการผลิตสินค้าขายภายหลัง
แต่ในปัจจุบัน โกลด์แมน แซคส์ ท้าทายกรอบความคิดกระแสหลักข้างต้น โดยยกการประเมินบริษัทจาก ผู้ชมคอนเสิร์ตออฟไลน์ มาเป็นตัวชี้วัดแทนยอดขายอัลบั้ม เพราะยอดขายอัลบั้มไม่อาจบ่งบอกได้ถึงจำนวนแฟนคลับแท้จริง ซึ่งแฟนคลับคนหนึ่ง สามารถซื้อหลายอัลบั้ม ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในกลุ่มแฟนคลับเคป็อป
อีกเหตุผลคือ ยอดขายอัลบั้มที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงที่เกิดโรคระบาด เนื่องจากขาดการโต้ตอบแบบออฟไลน์ ซึ่งทำให้การวัดผลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มแฟนคลับอาจบิดเบือนไป จึงต้องวัดผลจากยอดผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ตแทน
เหตุผลปัจจัยบวก Goldman Sachs
- ผู้ชมในญี่ปุ่นเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดย Hybe, SM และ JYP ครองส่วนแบ่ง 7% ของตลาดดนตรีสด, คอนเสิร์ตในญี่ปุ่น
- ซึ่ง โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ชมคอนเสิร์ตในญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นแบบทบต้น 24% จะส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2023 ถึง 2026 ส่วนแบ่งของ Hybe, JYP และ SM รวมกันจะเพิ่มขึ้นสองเท่าจาก 7% เป็น 14%
- มีความมั่นใจต่อการเติบโตของฐานแฟนเพลงเคป็อปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดยักษ์ใหญ่สหรัฐอเมริกา
- ธุรกิจเคป็อป กำลังกลายเป็นกระแสหลักทั่วโลก ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มอำนาจต่อรองแข็งแกร่งขึ้นในความสัมพันธ์ทางธุรกิจ จากตัวอย่างของบริษัท Hybe ยังได้ประกาศว่าจะขยายความร่วมมือกับ Universal Music Group รวมถึงสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวสำหรับศิลปินและค่ายเพลงของ Hybe โดย Universal Music Group คือค่ายที่จัดการสัญญาลิขสิทธฺ์เพลงให้กับศิลปินหลายคน ได้แก่ Taylor Swift, Ariana Grande และ Justin Bieber