ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยกระดับมาตรการปราบปรามภัยทุจริตทางการเงิน โดยกวาดล้างบัญชีธนาคารของผู้ต้องสงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพ พร้อมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการเปิดบัญชีใหม่ ซึ่งปิดไปแล้วกว่า 2 แสนบัญชี เพื่อปิดช่องทางอาชญากรรมออนไลน์ที่ใช้ระบบธนาคารในการหลอกลวงประชาชน
วันที่ 13 มิถุนายน 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานแถลงข่าว ยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน โดยนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน นางสาวดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน และนางสาวอโรรา อุนนะนันทน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยทางการเงินมีความรุนแรงมากขึ้น โดยจากสถิติในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2565-2567) มีคดีภัยทางการเงินสะสมอยู่ที่ 540,000 คดี และพบว่า ‘การหลอกให้ซื้อสินค้า’ คือสาเหตุที่มีจำนวนมากที่สุดของผู้เสียหาย ซึ่งมันสร้างความเสียหายมากกว่า 63,000 ล้านบาท
ขณะที่การจับบัญชีม้าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าสามารถตรวจจับได้ราว 200,000 บัญชี ซึ่ง 1 ใน 3 เป็นบัญชีเปิดใหม่ โดยเปิดใช้งานภายในระยะเวลา 1 เดือน จึงได้มีการระดมมาตรการเพื่อยกระดับการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือมาตรการจัดการบัญชีม้ากับแนวทางการป้องกันด้วยผลิตภัณฑ์และบริการ
การยกระดับการจัดการบัญชีม้า
ที่เริ่มจากปรับการดำเนินการระดับ ‘บัญชี’ เป็นระดับ ‘บุคคล’ ทำให้จัดการบัญชีต้องสงสัยได้เร็วขึ้น ซึ่งทุกธนาคารต้องดำเนินการตามระดับความเสี่ยงด้วยมาตรฐานเดียวกันกับผู้ใช้งานเดิมในระบบและผู้เปิดบัญชีใหม่ ดังนี้
1. กวาดล้างบัญชีม้าในระบบ โดยรวบรวมข้อมูลผู้ที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยจาก 3 แหล่ง ได้แก่ ข้อมูลของ ปปง., ระบบ Central Fraud Registry (CFR) และข้อมูลบัญชีธนาคารที่ต้องสงสัย เช่น บัญชีที่โอนเงินเข้า-ออกมูลค่าน้อยในเวลาสั้น ๆ หลายครั้ง ก่อนมีเงินโอนในมูลค่าที่สูงมาก เพื่อจัดระดับความเสี่ยงในการดำเนินการกับบัญชีเหล่านี้ ธนาคารจะระงับการใช้บัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทันที และพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามระดับความเสี่ยง
2. การเพิ่มความเข้มงวดในการเปิดบัญชีใหม่ เพื่อป้องกันการเกิดบัญชีม้า โดยธนาคารจะตรวจสอบความเสี่ยงของลูกค้าจากฐานข้อมูล 3 แหล่งข้างต้น ซึ่งแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้
- หากพบลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงมาเปิดบัญชีจากฐานข้อมูล ปปง. จะพิจารณาไม่ให้เปิดบัญชีใหม่ทุกธนาคาร
- แต่ถ้ามีความเสี่ยงจากฐานข้อมูล CFR จะไม่ให้เปิดบัญชีผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านช่องทาง mobile banking
- กรณีสุดท้ายถ้ามีความเสี่ยงในบัญชีธนาคาร ทุกธนาคารดำเนินการตามความเสี่ยงด้วยมาตรฐานเดียวกัน และจะต้องตรวจสอบเพิ่มเติม รวมถึงมีเงื่อนไขการใช้บัญชี
การมีผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ลูกค้า
มีผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อดูแลธุรกรรมของลูกค้าให้ปลอดภัย เช่น ล็อกวงเงินห้ามทำธุรกรรมออนไลน์, ปรับลดวงเงินต่อครั้งในการสแกนใบหน้า และการทำธุรกรรมบน Mobile Banking ต้องต่ำกว่า 50,000 บาท นอกจากนี้ธนาคารแต่ละแห่งจะเสนอบริการเพื่อดูแลลูกค้าเพิ่มเติมได้ เช่น การโอนเงินที่อาศัยบุคคลอื่นช่วยอนุมัติ (double authorization) หรือการโอนเงินเฉพาะรายชื่อที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะเริ่มเห็นการให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2567
ทั้งนี้ ธปท. คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยจำกัดเส้นทางเงินของมิจฉาชีพ ป้องกันประชาชนจากการหลอกลวง และสนับสนุนความมั่นคงของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย โดยจะมีการติดตามและปรับมาตรการให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง