กระทรวงการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เห็นชอบปรับปรุงเงื่อนไขกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ Thai ESG ให้จูงใจนักลงทุนมากขึ้น โดยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นตลาดทุนแทนการฟื้นกองทุน LTF
วันที่ 24 มิถุนายน 2567 มีการแถลงข่าวร่วม 3 หน่วยงานเกี่ยวกับ “การขับเคลื่อนตลาดทุน” อันประกอบด้วย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแถลง พร้อมด้วยนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
โดยมีแนวทางการส่งเสริมการออมการลงทุน ด้วยการปรับเงื่อนไขกองทุน Thai ESG มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีและลดระยะเวลาการถือครอง ให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการส่งเสริมให้เกิดการออม ผ่านการลงทุนในตลาดทุน และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ระดมทุนให้ความสำคัญกับความยั่งยืน
อัปเดตกองทุน Thai ESG หลังปรับเงื่อนไข
กองทุน Thai ESG หรือ Thailand ESG Fund คือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน เป็นกองทุนที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถนำเงินที่ลงทุนไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยกองทุน Thai ESG นั้น มีนโยบายการลงทุนที่เน้นไปที่หุ้นและตราสารหนี้ของบริษัทไทยที่มีความยั่งยืนตามหลัก ESG ซึ่งประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ดังนี้ E (Environmental) : สิ่งแวดล้อม, S (Social) : สังคม, G (Governance) : บรรษัทภิบาล
สิทธิประโยชน์ของการลงทุนในกองทุน Thai ESG ได้แก่
- ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี (เงื่อนไขคงเดิม)
- ไม่มีกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ (เงื่อนไขคงเดิม)
- ลงทุนที่ให้วงเงินลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี เพิ่มเป็นสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี
- ระยะเวลาการลงทุนต้องถือครองกองทุนไว้อย่างต่ำ 8 ปีเต็มนับจากวันที่ซื้อ ลดลงเหลือเพียง 5 ปีจากวันที่ซื้อ
- นโยบายลงทุนต้องลงทุนมากกว่า 80% ของ NAV ดังนี้ 1. หุ้นใน SET/MAI ที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (ESG) 2. ESG Bond 3. Green Token และเพิ่มเติม 4. หุ้นไทยที่อยู่ในดัชนี ESG ที่ได้รับความเชื่อถือระดับสากล
ผลกระทบของกองทุน Thai ESG ต่อตลาดหุ้นไทย
การปรับเงื่อนไข Thai ESG นี้คาดหวังว่า การขยายวงเงินจะส่งผลต่อดัชนี SET ที่จะปรับตัวดีขึ้น และจะเป็นทางเลือกในการออมให้กับกลุ่มคนอายุน้อย อาชีพอิสระ และกลุ่มคนที่ลงทุนในวงเงินเกษียณ (เช่น RMF) ไม่เต็มจำนวน นอกจากนี้ ยังคาดหวังการส่งเสริมให้มีการเปิดเผยข้อมูลการสร้างความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนมากขึ้น
และจากข้อมูลของ MSCI ที่ผ่านมาพบว่า บริษัทที่มี ESG Score สูง มักจะมีความสามารถในการทำกำไรและ/หรือสร้างอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่สูงกว่า มีความผันผวนของกำไรที่น้อยกว่า และมีราคาหุ้นที่มีความผันผวนไม่มากเท่าบริษัทที่มี ESG Score ต่ำกว่า
ดังนั้น จึงคาดว่าในอนาคต ESG จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนมากขึ้น และบริษัทที่มี ESG สูง จะได้รับการประเมินมูลค่าหุ้น (Valuation) ในระดับที่สูงกว่าอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าในระยะยาว