ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยก็กำลังเปลี่ยนแปลงไป เริ่มให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น และพร้อมกับการปรับตัวสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น

ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของ KPMG เผย คนไทยพร้อมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อสินค้าและบริการที่ยั่งยืน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Z โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่

  1. กลุ่มแรก 16% ยินดีจ่ายเพิ่มมากกว่า 20% สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  2. ขณะที่กลุ่มที่สอง 56% พร้อมจ่ายเพิ่มไม่เกิน 20% ของราคาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  3. และกลุ่มสุดท้าย 28% ไม่พร้อมจ่ายเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ 2 ใน 3 ของผู้บริโภคชาวไทยมองหาและสนับสนุนแบรนด์ที่ยั่งยืนอย่างจริงจัง ส่วนกลุ่มที่เหลือก็ให้ความสนใจ แต่ไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อมากนัก ทำให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่กว่า 94% ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้

การปรับตัวสู่โลกดิจิทัล

ด้านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Shopee และ Lazada ยังครองใจผู้บริโภคไทยที่ 25% และ 22% ตามลำดับ ตามด้วยไฮเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นอย่าง Big C ที่ 9% แซงหน้า Lotus’s ที่ 8%

ซึ่งแอปพลิเคชัน Shopee ได้รับความนิยมมากกว่า Lazada ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 55 ปี ขณะที่ผู้สูงอายุชอบ Lazada มากกว่า ส่วน Big C และ Lotus’s ได้รับความนิยมในกลุ่มอายุ 35-44 และ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งสมัครบริการสมาชิกร้านค้าปลีก ซึ่งได้รับความนิยมมากในกลุ่มอายุ 25-34 ปี

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งช่องทางที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วคือ Facebook Marketplace

เมื่อเทียบการชอปปิงออนไลน์กับออฟไลน์ 47% ของคนไทยสบายใจที่จะซื้อทั้งสองช่องทาง แต่กลุ่มคนอายุน้อยกว่า 34 ปีชอบซื้อออนไลน์มากกว่า และสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังสำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ คืออยากให้แพลตฟอร์มมีสินค้าหลากหลาย (17%) ราคาและโปรโมชั่นที่แข่งขันได้ (14%) และบริการที่รวดเร็วน่าเชื่อถือ (11%) โดย Gen Z ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของสินค้ามากที่สุด

ขณะที่ กระแสซื้อก่อนผ่านทีหลังยังคงได้รับความนิยมในไทย โดย 41% ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยใช้บริการ Buy Now, Pay Later ในปีที่ผ่านมาและตั้งใจจะใช้ต่อ ขณะที่อีก 20% รู้จักแต่ยังไม่เคยใช้ แต่สนใจจะลอง

และในปัจจุบันผู้บริโภค ชาวไทยกำลังหันมาใช้จ่ายเพื่อประสบการณ์มากขึ้นทั้งด้านการท่องเที่ยว (30%) เข้าสังคม (27%) และชอปปิง (24%) เช่นเดียวกับประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยสรุปรายงานนี้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคไทยที่น่าสนใจหลายประการ ทั้งความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และรูปแบบการใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป อันส่งผลต่อกลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาดในอนาคต