ย้อนไปในช่วงที่กระแสคริปโทเคอร์เรนซีบูมในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา เกิดการผลิตเหรียญโทเคนดิจิทัลออกมามากมาย ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์การจับจ่ายใช้สอย ลงทุน ไปจนถึงสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่เหรียญเหล่านั้นจะกำหนด
ในช่วงเวลานั้นธนาคารแห่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มธนาคารกลางลำดับแรก ๆ ที่เห็นถึงกระแสดิจิทัลที่จะมาปฏิวัติรูปแบบการเงินในอนาคตจึงได้จัดทำแผนศึกษาทดลอง และจัดพื้นที่ให้มีการทดสอบใช้ CBDC ภายใต้ชื่อโครงการอินทนนท์ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งบทความนี้จะพาไปดู Central Bank Digital Currency (CBDC) ตั้งแต่วันเปิดโครงการจนถึงวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงแผนพัฒนาโครงการการชำระเงินอื่น ๆ ในอนาคตของธนาคารแห่งประเทศไทยว่ามีรูปแบบใดบ้าง
CBDC ไปต่อหรือพอแค่นี้?
เริ่มแรกต้องมาเจาะลึกที่ระบบ CBDC โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. Retail CBDC เป็นรูปแบบที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันมากที่สุดและเป็นที่ถกเถียงถึงประโยชน์และการใช้งาน และอีกส่วนคือ Wholesale CBDC โดยทั้งสองรูปแบบล้วนพัฒนามาจากรากฐานสำคัญของโครงการอินทนนท์
Retail CBDC นั้นได้มีการเปิดโหมด Pilot เพื่อทดลองในวงพื้นที่จำกัดไม่เกิน 10,000 คน โดยมีการใช้จ่ายร้านค้ารอบ ๆ พื้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้ง ธนาคารพาณิชย์ และ non-bank ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเพิ่งทดสอบเสร็จสิ้นไปในปี 2566 ที่ผ่านมา โดยผลลัพธ์ที่ออกมาชี้ว่าประโยชน์ที่ได้นั้นไม่เห็นได้อย่างชัดเจนเทียบกับตัวพร้อมเพย์ที่ใช้กันในปัจจุบัน ดังนั้นแบงก์ชาติเองจึงไม่เห็นความสำคัญที่จะต้องเปลี่ยนมาใช้ CBDC ในรูปแบบ retail นี้
ส่วนการพัฒนา Wholesale CBDC กลับมีแนวโน้มในการนำมาใช้จริง เพราะเห็นถึงประโยชน์ที่ชัดเจนกว่า ด้วยการนำมาแก้ไขปัญหาการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งใช้ระยะเวลานาน 2-3 วัน มีค่าธรรมเนียมที่สูง เพราะในทุก ๆ การโอนเงินต้องผ่านตัวกลาง ทั้งยังต้องการความเชื่อมั่นของตัวกลางที่จะสามารถให้บริการธุรกรรมการเงินนั้น ๆ ได้ แต่การใช้ระบบบล็อกเชนสามารถสร้างความเชื่อใจโดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง อีกทั้งยังขจัดความเสี่ยงเรื่องการทำธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินระหว่างกัน (Settlement risk) ,Credit risk และ Operational risk ระบบนี้จะทำให้การโอนเงินระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง
โดยโครงการพัฒนา Wholesale CBDC ดังกล่าว มีชื่อว่าโครงการ mBridge หรือ “Multiple-Central Bank Digital Currency Bridge” เป็นการสร้างระบบที่สถาบันการเงินของแต่ละประเทศสามารถเชื่อมต่อและใช้งานตลอด 24 ชั่วโมงแบบไม่ต้องพึ่งพิงตัวกลาง (corresponding bank) เพื่อทำให้การโอนเงินระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ช่วยลดระยะเวลาการโอนเงินระหว่างประเทศเหลือเพียงหลักนาที เมื่อเปรียบเทียบกับการโอนเงินในระบบปัจจุบันซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน
โดยโครงการ mBridge มีการรวมตัวกันทั้งหมด 4 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย, จีน, ฮ่องกง, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และ ประเทศที่กำลังจะเข้าร่วมเป็นประเทศที่ 5 คือ ซาอุดีอาระเบีย ในส่วนของไทยเองมีการทดสอบการทำธุรกรรมจริงในขอบเขตจำกัดในปี 2022 และ 2024 โดยในปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เพิ่มประสิทธิภาพของระบบให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ทำธุรกรรมจริงในขอบเขตจำกัดในไตรมาสที่ 3 ของปี 2025 โดยหากมีการเปิดใช้ ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์เป็นอันดับแรก ๆ ก็คือธุรกิจที่ต้องทำธุรกรรมระหว่างประเทศ เช่น ธุรกิจนำเข้า-ส่งออก เป็นต้น
โดยในปัจจุบันโครงการ mBridge ถือเป็นโครงการที่มีการพัฒนาต่อเนื่องและเข้าสู่ระดับการใช้งานจริง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนธนาคารกลางและองค์กรระหว่างประเทศสากลเข้าร่วมเป็นสมาชิกสังเกตการณ์ (Observing Member) ถึง 30 ราย
ความท้าทายในอนาคตของระบบ Wholesale CBDC คือการที่แต่ละประเทศต้องตกลงเงื่อนไขบางอย่างร่วมกัน เช่น ขอบเขตการใช้งาน นโยบายและกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินของแต่ละประเทศ เนื่องจากระบบนี้ต้องการการกำกับดูแลที่โปร่งใสและตรวจสอบได้
นอกจากโครงการ CBDC ข้างต้นที่เล่าไปแล้ว ทางแบงก์ชาติเองยังมีการพัฒนาอีก 2 โครงการ ได้แก่ PromptBiz และโครงการ Nexus
PromptBiz เปลี่ยนบิลกระดาษสู่ดิจิทัล
โดยเป็นการ transform รูปแบบการทำธุรกิจจากกระดาษสู่รูปแบบดิจิทัล ตั้งแต่การเริ่มต้นวางบิล ชำระเงิน ไปจนถึงกระบวนการใบเสร็จ โดยจะลดความยุ่งยากและเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งช่วยติดตามสถานะการชำระเงินและเป็นระบบชำระเงินที่ออกแบบมาสำหรับธุรกิจโดยเฉพาะ
โดย PromptBiz ได้เริ่มให้บริการแล้วตั้งแต่ปี 2023 ซึ่งต้องอาศัยการขับเคลื่อนร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดการใช้งานวงกว้าง และระบบนี้จะเป็นประโยชน์ช่วยให้หลังบ้านของแต่ละธุรกิจมีการจัดการง่ายขึ้น รวมถึงช่วยในเรื่องการขอสินเชื่อง่ายขึ้นอีกด้วย
Nexus การเงินไร้พรมแดน
Nexus เป็นการเชื่อมระบบโอนเงินแบบทันที (Instant Payment System) ของประเทศต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทำให้สามารถโอนเงินระหว่างประเทศได้ด้วยแอปฯ ธนาคารด้วยบริการ PromptPay จากประเทศเราได้ทันที สร้างความสะดวกสบาย โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานในต่างประเทศและกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยมีจุดเด่นที่ค่าธรรมเนียมถูก รวดเร็ว ปลอดภัย และโปร่งใส
ระบบ Nexus นี้เป็นความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับธนาคารกลางอื่น ๆ และธนาคารพาณิชย์ เพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) ที่จะรองรับการเชื่อมโยงบริการโอนเงินระหว่างประเทศแบบพหุภาคีสำหรับผู้ใช้บริการรายย่อย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเราอยู่ในกลุ่ม 5 ประเทศแรกที่อยู่ระหว่างดำเนินการเชื่อมต่อกัน โดยมี 4 ประเทศพันธมิตร ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย และฟิลิปปินส์
เรื่องระบบการชำระเงินที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหลายเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองว่าจะนำพาประเทศไทยไปในทิศทางใดต่อ รวมถึงการเข้ามาของ Virtual Bank จะปรับเปลี่ยนสังคมไทยอย่างไรต่อไป