7-Eleven ญี่ปุ่นล้มดีลซื้อกิจการ มูลค่า 1.3 ล้านล้านบาทมองว่า บริษัทจากแคนาดาเสนอราคาต่ำเกินไป ขณะที่ชาวญี่ปุ่นบางคนเห็น 7-Eleven เป็นสมบัติของชาติ
ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม มีข่าวบริษัท Alimentation Couche-Tard (ACT) ผู้นำด้านธุรกิจร้านสะดวกซื้อและสถานีเติมน้ำมันของแคนาดายื่นขอซื้อกิจการ 7-Eleven ญี่ปุ่นที่บริหารงานโดยบริษัท Seven & i Holding Co. มูลค่ากว่า 3.9 หมื่นล้านเหรียญ (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) ซึ่งกลายเป็นดีลใหญ่ที่น่าจับตามองอย่างมากในอุตสาหกรรมร้านสะดวกซื้อ
แต่ล่าสุดบริษัท Seven & i Holding Co. ได้ออกมาปฏิเสธข้อเสนอนี้แล้ว โดยให้เหตุผลว่า มูลค่าที่เสนอมานั้นต่ำเกินไป และมีความเสี่ยงด้านกฎระเบียบการจัดการดูแล ขณะเดียวกันบริษัท Seven & i Holding Co. ก็ยังเปิดทางให้สำหรับพิจารณาข้อเสนอใหม่ที่น่าดึงดูดใจกว่าเดิม
และเนื่องจากนักลงทุนกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ของข้อตกลงดังกล่าว ทำให้ราคาหุ้นของ 7-Eleven ญี่ปุ่นมีความผันผวนสูงมากในช่วงที่ผ่านมา แต่หลังจากผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ญี่ปุ่นปฏิเสธข้อเสนอนี้ก็ส่งผลกระทบให้ราคาหุ้นลดลง 1.9% ในการซื้อขายช่วงเช้าของวันศุกร์ (6 ก.ย. ที่ผ่านมา)
สำหรับคนญี่ปุ่นจำนวนมาก พวกเขามองร้านสะดวกซื้อกว่า 55,000 สาขาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นไปเสียแล้ว เพราะร้านสะดวกซื้อไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่ซื้ออาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดบริการที่ครบวงจรสำหรับคนญี่ปุ่นอีกมากมายที่ใช้บริการส่งพัสดุและชำระค่าบริการต่าง ๆ ในแต่ละวัน และร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ด้วยขนาดที่ใหญ่ที่สุดและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จึงฝังรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น ทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการที่ 7-Eleven ตกเป็นของบริษัทต่างชาติ
Hiroaki Watanabe นักวิเคราะห์ธุรกิจค้าปลีกกล่าวกับนิวยอร์กไทม์สว่า “7-Eleven เป็นธุรกิจค้าปลีกแบบมีตัวตน เป็นร้านค้าที่ดีที่สุดในโลกสำหรับญี่ปุ่น แล้วการขาย 7-Eleven ให้กับ Couche-Tard จะเท่ากับว่าโตโยต้ากำลังกลายเป็นบริษัทต่างประเทศ”
อย่างไรก็ตาม หากข้อตกลงระหว่างสองบริษัทเกิดขึ้นจริง จะก่อให้เกิดร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีสาขามากกว่า 100,000 แห่ง ซึ่งอาจได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันของสหรัฐฯ และรัฐบาลญี่ปุ่นที่สามารถยกเลิกข้อตกลงซื้อขายนี้ได้