สิงคโปร์ ถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลก และเป็นประเทศที่รวยติดอันดับต้น ๆ ของโลก หากมองเจาะลงมาในส่วนภาคประชาชนเอง พบว่าคนสิงคโปร์ส่วนใหญ่นั้นมีความรู้ทางด้านการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่สูง 58 จาก 60 คะแนนในผลสำรวจ และปี 2023 มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 84,734 เหรียญ (ประมาณ 3 ล้านบาท)

โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนถูกปลูกฝังมาจากครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันแรกในชีวิตของเด็กคนหนึ่งที่มีพ่อแม่เสมือนครูคนแรกของลูก ๆ ปลูกฝังนิสัย เพื่อเป็นตัวชี้วัดว่า เด็กคนนั้นจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตได้อย่างไร

ผลสำรวจล่าสุดจาก Singlife Financial Freedom Index 2024 ยังพบว่า 29% ของคนสิงคโปร์ รู้สึกว่าตัวเองมีอิสระทางการเงิน รวมถึงคนส่วนมากถึง 56% ตอบในแบบสำรวจว่า พวกเขาได้รับอิทธิพลในเรื่องการเงินที่ดีจากการปลูกฝังของครอบครัว ทั้งเรื่องการเก็บออม การลงทุน หรือกระทั่งการใช้จ่ายเองก็ตาม

ในขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจอีก 44% ที่เหลือก็มองว่า ตัวเองเรียนรู้พฤติกรรมแย่ ๆ จากครอบครัวเช่นกัน อาทิ การใช้จ่ายเกินตัว หรือปัญหาหนี้สินเหมือนพ่อแม่ แสดงถึงความสำคัญของพฤติกรรมทางการเงินจากพ่อแม่ที่ส่งต่อมาถึงลูก

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการจะบรรลุอิสรภาพทางการเงินก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา โดยในสิงคโปร์ผู้คนอาจต้องใช้เวลาประมาณ 30 ปี และผู้คนเชื่อว่าต้องมีเงินประมาณ 612,045 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 16 ล้านบาท) จึงเกษียณได้ นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ 4 ใน 10 ราย (44%) ที่ตอบแบบสำรวจเชื่อว่าตนจะไม่มีวันบรรลุอิสรภาพทางการเงินได้ อุปสรรคสำคัญที่กล่าวถึง ได้แก่ รายได้ไม่เพียงพอ, ค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด, ความไม่มั่นคงในการทำงาน และภาระการชำระหนี้

ดังนั้น เมื่อเริ่มต้นเรียนรู้ไวกว่าก็มีโอกาสพบอิสรภาพทางการเงินไวกว่า ทำให้เรื่องการเงินในครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเราควรเริ่มที่การปลูกฝังที่วินัยการอดออม รู้จักใช้จ่าย ไม่สร้างหนี้จากการบริโภค มีการหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อจัดสรรเงินบางส่วนไปลงทุน เรื่องเหล่านี้เองถ้าเด็กได้มีโอกาสเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก จะทำให้พวกเขาเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต แล้วสะท้อนเป็นความมั่งคั่งสู่ระดับประเทศต่อไป

นอกจากการปลูกฝังในครอบครัวแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ เช่น นโยบายภาษีที่เอื้อต่อการลงทุน โอกาสทางการศึกษาที่หลากหลาย และระบบการเงินที่มั่นคงก็มีส่วนสำคัญในการสร้างอิสรภาพทางการเงินให้แก่ประชาชนสิงคโปร์ การเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและไทยจะพบว่า สิงคโปร์มีอัตราการออมที่สูงกว่าและมีสัดส่วนประชากรที่มีสินทรัพย์ทางการเงินมากกว่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมการออมและการลงทุนในสังคมสิงคโปร์