หลายคนอาจเคยได้ยินว่า ไม่ว่าเราจะไปอยู่ไหนในโลกนี้ก็มีสองสิ่งที่หนีไม่พ้นคือ ความตายกับภาษี ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะนอกจากมนุษย์ทุกคนต้องสิ้นอายุขัย ในขณะเดียวกันการเสียภาษีก็เป็นสิ่งที่ทุกคนที่มีรายได้ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องชำระให้ถูกต้องตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม แม้เราไม่สามารถหนีภาษีได้พ้น แต่สามารถที่จะลดหย่อนภาษีเพื่อช่วยให้คุณจ่ายภาษีน้อยลงอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ โดยต้องเข้าใจและวางแผนภาษีอย่างถูกต้อง 

อีกทั้งการจ่ายภาษีอย่างถูกต้องไม่เพียงช่วยให้เราปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ยังเป็นการจัดการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เราเก็บออมเงินได้มากขึ้น และวางแผนอนาคตได้อย่างมั่นคง

ภาษีกับความตายคือสองสิ่งที่แม้อยากหนี เราก็หนีไม่พ้น

เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin)

ค่าลดหย่อนกลุ่มต่าง ๆ

ตัวอย่างการใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่สามารถช่วยลดหย่อนภาษีได้ เช่น

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว เช่น ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา, ค่าครองชีพบุตร, คู่สมรส หรือค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร เป็นต้น
  • ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน เช่น ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ
  • ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค เช่น เงินบริจาคทั่วไป, เงินบริจาคเพื่อการศึกษา, เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง
  • ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ เช่น ดอกเบี้ยบ้าน, ค่าใช้จ่าย e-Donation
  • กลุ่มเงินบริจาค เช่น Easy e-Receipt 2567, ค่าลดหย่อนเที่ยวเมืองรอง 2567, ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย, ค่าสร้างบ้านใหม่ 2567-2568

แต่สำหรับผู้เริ่มลงทุนลดหย่อนภาษี กองทุนที่ให้สิทธิลดหย่อนถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากช่วยลดภาษีแล้ว ยังช่วยให้เราสร้างความมั่งคั่งระยะยาวได้อีกด้วย โดยบทความนี้จะเน้นอธิบายไปที่วิธีลดหย่อนภาษีด้วยกองทุนรวมแบบง่าย ๆ ที่คุณสามารถทำตามได้ทันที

ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน

รู้ประเภทกองทุนยอดนิยมลดหย่อนภาษี

กองทุนอะไรลดหย่อนได้บ้าง และลดหย่อนได้เท่าไหร่ ? ในระดับพื้นฐานที่สุด ที่ทุกคนต้องรู้จักก่อนเลยนั้นมี 3 กองทุนที่สามารถช่วยลดหย่อนภาษีได้ เปรียบดั่งสามทหารเสือ ตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีที่ช่วยเซฟภาษีรวมกันได้สูงสุดถึง 800,000 บาทเลยทีเดียว ซึ่งกองทุนที่สามารถลดหย่อนภาษีได้แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

กองทุน RMF (Retirement Mutual Fund)

กองทุนสำหรับวางแผนเกษียณ สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ต่อปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท มีเงื่อนไขถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี และขายคืนได้เมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์ (ตามวันเกิด) โดยจะต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี การนับต่อเนื่องจะนับเฉพาะปีที่ซื้อเท่านั้น

กองทุน SSF (Super Savings Fund)

กองทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ต่อปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท จะขายคืนได้เมื่อถือครองไม่น้อยกว่า 10 ปี ไม่มีเงื่อนไขการซื้อต่อเนื่อง

กองทุน ThaiESG

กองทุน Thai ESG หรือกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน เป็นกองทุนลดหย่อนภาษีรูปแบบใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ไทยที่ให้ความสำคัญกับหลัก ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) โดยเน้นสนับสนุนบริษัทที่มีการดำเนินงานอย่างยั่งยืน เช่น หุ้นที่อยู่ในดัชนี SET ESG Ratings หรือ ESG Bond เพื่อตอบโจทย์การลงทุนที่ใส่ใจต่อความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างผลตอบแทนระยะยาวแก่ผู้ลงทุน

โดยกองทุน Thai ESG สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของรายได้ทั้งปี หรือไม่เกิน 300,000 บาท โดยไม่รวมกับกองทุนลดหย่อนภาษีอื่น ๆ เช่น SSF และ RMF อีกทั้งยังมีเงื่อนไขการถือครองที่ยืดหยุ่นกว่า เช่น ต้องถือครบ 5 ปีเต็ม แต่ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมจากฐานเดิม หรือมองหาโอกาสเติบโตในหุ้นยั่งยืนโดยไม่ต้องรอจนเกษียณเหมือน RMF หรือถือนานถึง 10 ปีเหมือน SSF

อีกกองทุนสำคัญที่หลายคนมักมองข้าม

Provident Fund (PVD)

Provident Fund (PVD) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เหมาะสำหรับพนักงานบริษัท ที่เป็นการลงทุนในกองทุนที่เลือก ผสมกับเงินสมทบจากนายจ้าง แล้วยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ต่อปี และเมื่อรวมกับ RMF และประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท 

ลำดับการใช้สิทธิ หากมีครบทุกกองทุน  

หัวข้อนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่น้อยคนนักจะรู้และใช้เป็น ควรวางแผนลดหย่อนภาษีโดยจัดลำดับการใช้สิทธิ ดังนี้  

  1. ใช้สิทธิลดหย่อนจาก PVD ก่อน เพราะเป็นการลงทุนที่นายจ้างช่วยสมทบ  
  2. ใช้สิทธิลดหย่อนจาก SSF เนื่องจากวงเงินน้อยกว่า RMF  
  3. ใช้สิทธิลดหย่อนจาก RMF ในส่วนที่เหลือ

ขั้นตอนลดหย่อนภาษีแบบจับมือทำ

  1. คำนวณรายได้สุทธิ เพื่อหาว่าคุณต้องเสียภาษีเท่าไหร่ รายได้สุทธิ = รายได้ทั้งหมด (ค่าใช้จ่าย + ค่าลดหย่อน) หากคิดรายได้สุทธิแล้วเกิน 150,000 บาท ต้องเริ่มมองหาการลดหย่อนภาษี
  2. ตรวจสอบสิทธิลดหย่อนจากกองทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่  
  3. เลือกกองทุนที่เหมาะสม ประเมินความเสี่ยงที่รับได้จากการลงทุน โดยคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนและเงื่อนไขภาษี แล้วศึกษาจาก Fund Fact Sheet ให้รู้ว่ากองทุนนี้ลงทุนในอะไรบ้าง ค่าธรรมเนียมเท่าไหร่ ทำผลตอบแทนได้เท่าไหร่  
  4. ดำเนินการลงทุนผ่านธนาคารหรือผู้จัดการกองทุน หรือแอปฯ Finnomena (บลน.), Kbank (บล.)
  5. เก็บเอกสารหลักฐาน เช่น ใบยืนยันการซื้อกองทุน เพื่อยื่นภาษีในปีถัดไป

การเตรียมเอกสารใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีสองรูปแบบหลักให้เลือก ได้แก่ แบบ ภ.ง.ด.90 ซึ่งใช้สำหรับผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน เช่น รายได้จากการค้า การลงทุน หรือรายได้จากแหล่งอื่น และแบบ ภ.ง.ด.91 สำหรับผู้ที่มีรายได้เฉพาะเงินเดือนและไม่มีรายได้เสริมจากแหล่งอื่น 

การเลือกแบบยื่นภาษีที่เหมาะสมจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ก่อนที่จะดำเนินการต่อไปยังขั้นตอนการยื่นภาษี จำเป็นต้องเตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้ครบถ้วน

เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยื่นภาษีเริ่มต้นด้วยหนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย หรือที่เรียกว่า “ใบ 50 ทวิ” ซึ่งเอกสารนี้ออกโดยนายจ้างหรือผู้จ่ายเงินให้ผู้ยื่นภาษี และมีข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ตลอดปีและภาษีที่ถูกหักไว้ล่วงหน้า 

นอกจากนี้ หากผู้ยื่นภาษีมีรายการลดหย่อน เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา หรือรายการที่เข้าข่ายลดหย่อนอื่น ๆ ต้องจัดเตรียมรายการเหล่านี้พร้อมเอกสารประกอบ เช่น ใบเสร็จหรือหลักฐานการจ่าย เพื่อใช้กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มการยื่นภาษี

เมื่อเตรียมเอกสารครบถ้วนแล้ว ผู้ยื่นภาษีสามารถเลือกวิธียื่นภาษีได้หลากหลายช่องทาง หากต้องการยื่นภาษีด้วยตัวเอง สามารถไปที่กรมสรรพากรหรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่ใกล้บ้านซึ่งให้บริการในเวลาทำการ 

สำหรับผู้ที่ต้องการความสะดวกและประหยัดเวลา การยื่นผ่านระบบออนไลน์ของกรมสรรพากรหรือที่เรียกว่า E-Filing ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี โดยสามารถเข้าสู่ระบบผ่านเว็บไซต์ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/ ซึ่งในเว็บไซต์นี้ยังมีคำแนะนำในการใช้งานอย่างละเอียดสำหรับมือใหม่ 

หรือหากต้องการยื่นภาษีผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ก่อนจะใช้งานแอปฯ นี้ ผู้ยื่นต้องลงทะเบียนในระบบเว็บไซต์ของกรมสรรพากรก่อน

ทั้งนี้ การเตรียมตัวล่วงหน้าและการตรวจสอบเอกสารอย่างรอบคอบ จะช่วยให้การยื่นภาษีเป็นไปอย่างราบรื่นและลดความเสี่ยงในการแก้ไขเอกสารหรือยื่นภาษีผิดพลาด นอกจากจะช่วยประหยัดเวลาแล้ว ยังทำให้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

ข้อควรระวังการขายผิดเงื่อนไขกองทุนต่าง ๆ

หากขาย RMF หรือ SSF ก่อนกำหนด จะต้องคืนสิทธิลดหย่อนภาษี และเสียค่าปรับ โดย RMF ต้องซื้อและถือให้ครบ 55 ปี SSF ควรถือให้นานกว่า 10 ปี และกองทุน Thai ESG ต้องถือให้ครบ 5 ปี รวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หากถอนก่อนเกษียณ จะต้องเสียภาษีเงินก้อนที่ถอนได้

แนะนำกองทุน

E-Class เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นลงทุนลดหย่อนภาษี ค่าธรรมเนียมต่ำที่สุดในกองทุนที่เปิดขายในไทย แต่มีข้อจำกัดให้ลงทุนได้สูงสุด 1 ล้านบาท ฉะนั้นต้องประเมินตัวเองและเลือกกองทุนที่เหมาะสม ลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย เช่น กองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ หรือกองทุนที่สนับสนุนความยั่งยืน เป็นต้น

ในท้ายที่สุด การลดหย่อนภาษีด้วยกองทุนรวมเป็นวิธีที่ช่วยให้คุณประหยัดภาษี และเพิ่มโอกาสสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว เพียงทำความเข้าใจเงื่อนไขและวางแผนอย่างเหมาะสม คุณก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้อย่างเต็มที่ได้ด้วยตัวเอง เริ่มต้นวันนี้