ปัจจุบัน อาชีพฟรีแลนซ์เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากความสะดวกในการทำงานและโอกาสสร้างรายได้ที่ไม่จำกัด
อย่างไรก็ตาม หลายคนยังไม่ทราบแนวทางการเสียภาษีที่ถูกต้อง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางกฎหมายหรือค่าปรับหากละเลยหน้าที่สำคัญนี้ เพราะการเสียภาษีอย่างถูกต้องไม่เพียงแต่ช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกตรวจสอบ แต่ยังสร้างความมั่นคงทางการเงินและเป็นการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอีกด้วย
ประเภทของรายได้ฟรีแลนซ์ที่ต้องเสียภาษี
ก่อนอื่นต้องแยกความแตกต่างของรายได้นี้อาชีพตามกฎหมาย เนื่องจากการทำความเข้าใจประเภทของรายได้ช่วยให้คุณสามารถจัดการภาษีได้อย่างถูกต้อง
โดยกฎหมายไทยแบ่งรายได้ที่ต้องเสียภาษีออกเป็นหลายประเภท สำหรับฟรีแลนซ์ รายได้ส่วนใหญ่อยู่ในประเภทรายได้จากการให้บริการหรือขายทักษะ เงินได้ 40(2) หรือที่เรียกว่า รายได้ประเภทที่ 2
ซึ่งอ้างอิงตามนิยามของกรมสรรพากร เงินได้ประเภทที่ 2 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินจากการรับทำงานให้ทั้งประจำหรือชั่วคราว เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่างรายได้ประจำและรายได้ฟรีแลนซ์
รายได้จากงานประจำ
ความแตกต่างหลักระหว่างรายได้จากงานประจำและรายได้ฟรีแลนซ์ คือวิธีการทำงานและข้อผูกพันที่เกี่ยวข้อง รายได้จากงานประจำเกิดจากการจ้างแรงงานตามสัญญา โดยมีสถานะเป็น “นายจ้าง-ลูกจ้าง” ตามกฎหมายแรงงาน และมีการกำหนดระเบียบในการปฏิบัติงานอย่างชัดเจน ซึ่งผู้ทำงานประจำจะได้รับประโยชน์จากประกันสังคมและสิทธิต่าง ๆ แม้ว่างานจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม และมีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของรายได้
รายได้ฟรีแลนซ์
ในทางกลับกัน รายได้ฟรีแลนซ์มาจากการทำงานเป็นอิสระ โดยผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างอยู่ภายใต้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฟรีแลนซ์ไม่มีระเบียบปฏิบัติงานที่ต้องยึดถือ มีเพียงข้อกำหนดที่จะต้องทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย แต่ก็ไม่มีสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม เว้นแต่จะสมัครในฐานะผู้ประกันตนเอง และจะได้รับเงินก็ต่อเมื่องานเสร็จสมบูรณ์ตามข้อกำหนดในสัญญา นอกจากนี้ หากรายได้ต่อปีเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยตนเองอีกด้วย
กล่าวโดยสรุปอย่างง่าย งานประจำให้ความมั่นคงในด้านสิทธิประโยชน์และรายได้ที่แน่นอน ในขณะที่งานฟรีแลนซ์เน้นความยืดหยุ่นในการทำงาน แต่ต้องรับผิดชอบเรื่องภาษีและสิทธิประโยชน์ด้วยตัวเองอย่างครบถ้วน
ขั้นตอนการเสียภาษี
- การคำนวณรายได้
เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
- คำนวณรายได้รวม รวบรวมรายได้ทั้งปีจากทุกแหล่งที่จ่ายค่าตอบแทน รวมถึงยอดขายหรือค่าจ้าง
- หักค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ จะหักจากเงินได้พึงประเมิน โดยหักแบบเหมา 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- หักค่าลดหย่อนต่าง ๆ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ประกันสังคม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าลดหย่อนส่วนตัว (60,000 บาท) ประกันสังคม/กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าลดหย่อนอื่น ๆ เช่น ประกันสุขภาพ การศึกษา บุตร หรือดอกเบี้ยบ้าน
- นำเครดิตหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% โดยผู้ว่าจ้างเป็นผู้หักก่อนจ่ายเงินให้ฟรีแลนซ์ (รายได้ที่ถูกหักไปก่อนรับเงินจากนายจ้าง)
- การยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90 สามารถทำได้ 3 วิธี คือ
- ยื่นแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 ด้วยตัวเอง ที่สำนักงานกรมสรรพากรในพื้นที่ที่ตนเองอยู่อาศัย
- ยื่นแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 ด้วยการส่งแบบฟอร์มผ่านไปรษณีย์ แต่ต้องเป็นฟรีแลนซ์ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น
- ยื่นแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 ทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร
- การชำระภาษี
ชำระได้หลายวิธี เช่น ธนาคาร แอปพลิเคชัน หรือจุดบริการชำระเงินที่ร่วมรายการ
ภาระและบทลงโทษ หากไม่เสียภาษี
หากคุณละเลยการยื่นภาษี กรมสรรพากรมีสิทธิ์ตรวจสอบรายได้ย้อนหลังได้ถึง 5 ปี (หรือ 10 ปีในกรณีที่ไม่ยื่นแบบฟอร์มภาษี) โดยกรมสรรพากรจะทำการตรวจสอบรายได้จากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่ ยอดเงินในบัญชีธนาคาร รายการธุรกรรมการขายสินค้า/บริการออนไลน์ รายได้จากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Shopee, Lazada หรือ Fastwork
ซึ่งถ้าเกิดการตรวจสอบเหล่านี้แล้วอาจสร้างความยุ่งยาก เนื่องจากคุณต้องจัดเตรียมเอกสารแสดงรายได้และค่าใช้จ่ายเพื่อชี้แจงความถูกต้อง
ค่าปรับและดอกเบี้ย
หากพบว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่ยื่นภาษี คุณจะต้องเผชิญกับบทลงโทษดังนี้
- มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 5,000 บาท จำคุกสูงสุด 6 เดือน
- ค่าปรับ: เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย รวมถึงการไม่ยื่นแบบฟอร์มภาษีหรือการยื่นข้อมูลเท็จจะต้องเสียค่าปรับสูงสุดถึง 2,000 บาทต่อกรณี
- ดอกเบี้ย: เงินภาษีที่ค้างชำระจะถูกคิดดอกเบี้ยในอัตรา 1.5% ต่อเดือน และสะสมจนกว่าจะชำระเต็มจำนวน
และในบางกรณีอาจมีการดำเนินคดีทางกฎหมาย สำหรับผู้ที่ดำเนินธุรกิจออนไลน์หรือฟรีแลนซ์ การถูกดำเนินคดีภาษีอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของธุรกิจในระยะยาว ดังนั้นจึงควรที่จะยื่นภาษีได้ตามเวลาที่กำหนดในรอบปีนั้น ๆ
คำแนะนำด้านภาษีสำหรับฟรีแลนซ์
การจัดการรายได้และการวางแผนภาษีเป็นสิ่งสำคัญสำหรับฟรีแลนซ์ เพื่อให้การคำนวณภาษีแม่นยำและการจัดการการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซับซ้อน และเพิ่มความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว ดังนี้
การจัดการรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การบันทึกบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างเป็นระบบช่วยให้เห็นภาพรวมของการเงินและทำให้การคำนวณภาษีแม่นยำยิ่งขึ้น การทำบัญชีที่ดีควรประกอบด้วย:
- การบันทึกรายการประจำวัน จดบันทึกรายรับและรายจ่ายทุกวัน เพื่อป้องกันความผิดพลาดและช่วยในการติดตามการเงิน
- การใช้โปรแกรมบัญชี มีโปรแกรมบัญชีฟรีที่ช่วยในการบันทึกและจัดการข้อมูล เช่น myAccount, Peak และ RDSMEs ซึ่งช่วยลดความซับซ้อนในการทำบัญชีและเพิ่มความแม่นยำ
การวางแผนภาษีล่วงหน้า
การวางแผนภาษีล่วงหน้าช่วยลดภาระและความซับซ้อนในการยื่นภาษี โดย:
- การใช้บริการที่ปรึกษาภาษี จ้างที่ปรึกษาภาษีสามารถให้คำแนะนำเฉพาะด้าน ช่วยให้จัดการและบริหารภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายและใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เต็มที่
- การใช้โปรแกรมช่วยคำนวณภาษี ใช้โปรแกรมและแอปพลิเคชันที่ช่วยคำนวณภาษี ทำให้กระบวนการยื่นภาษีเป็นไปอย่างราบรื่นและลดความผิดพลาด ตัวอย่างเช่น iTax
การตรวจสอบสิทธิประโยชน์
การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างครบถ้วนช่วยลดภาระภาษีและเพิ่มเงินออม โดย:
- การใช้สิทธิลดหย่อนจากการบริจาค อาทิ การบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้กับองค์กรการกุศลที่ได้รับการรับรอง สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
- การใช้สิทธิลดหย่อนจากประกันสุขภาพ เบี้ยประกันสุขภาพที่ชำระสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ช่วยลดภาระภาษีและเพิ่มความมั่นคงด้านสุขภาพ
การเสียภาษีอย่างถูกต้องและโปร่งใสเป็นหน้าที่ที่สำคัญของฟรีแลนซ์ ไม่เพียงแต่ช่วยลดความเสี่ยงทางกฎหมาย แต่ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ธุรกิจในระยะยาว ทั้งนี้ การปฏิบัติตามแนวทางที่แนะนำในบทความจะช่วยให้คุณสามารถบริหารจัดการภาษีได้อย่างมั่นใจและถูกต้อง
การเสียภาษีไม่ได้เป็นเพียงภาระ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นพลเมืองที่ดีและมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน