ในช่วงปีที่ผ่านมา แนวคิดเรื่องการจัดเก็บภาษีขั้นต่ำระดับโลก (Global Minimum Tax) กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลและนักลงทุนทั่วโลก เพื่อจัดการกับปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติที่ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของระบบภาษีระหว่างประเทศ
สำหรับประเทศไทย Global Minimum Tax กำลังจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2568 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับบริษัทข้ามชาติและนักลงทุนในประเทศที่ต้องให้ความสำคัญ
บทความนี้จึงจะพาไปเจาะลึกถึงเนื้อหาที่สำคัญเกี่ยวกับ Global Minimum Tax และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในมุมมองของเศรษฐกิจและตลาดทุนของไทย
Global Minimum Tax คืออะไร?
Global Minimum Tax (ภาษีขั้นต่ำระดับโลก) เป็นมาตรการภาษีที่ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการแข่งขันด้านภาษีระหว่างประเทศ
โดยกำหนดให้อัตราภาษีขั้นต่ำอยู่ที่ 15% สำหรับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้และกำไรตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจโลกและลดโอกาสที่บริษัทจะหลบเลี่ยงภาษีโดยการย้ายฐานไปยังประเทศที่มีภาษีต่ำ
เกณฑ์และเงื่อนไขสำคัญ
บริษัทที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีขั้นต่ำ 15% ต้องมีลักษณะดังนี้
- มีรายได้รวมทั้งบริษัท 20,000 ล้านยูโรต่อปี และมีกำไร 10% ขึ้นไป จะต้องแบ่งผลกำไรให้กับประเทศที่เป็นแหล่งที่มาของรายได้ด้วย
- หรือสำหรับบริษัทข้ามชาติที่เป็นบริษัทในกลุ่ม ถ้ามีมีรายได้รวมในประเทศนั้น ๆ เกินกว่า 750 ล้านยูโร (ประมาณ 27,500 ล้านบาท)
ประเทศไทยมีกำหนดจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายนี้ในปี 2568 เพื่อเพิ่มรายได้จากภาษีและลดความเหลื่อมล้ำทางภาษีระหว่างประเทศในอาเซียน
อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้ Global Minimum Tax อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มอบให้แก่บริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการยกเว้นหรือการลดหย่อนภาษี
ประเทศไหนประกาศใช้แล้วบ้าง?
ปัจจุบัน 168 ประเทศ ในกลุ่ม OECD รวมถึงสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างสนับสนุนการใช้ Global Minimum Tax โดยในปี 2568 คาดว่าจะมีประเทศใหม่อีก 5 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยเข้าร่วมในระบบนี้
ประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี เป็นกลุ่มแรกที่นำมาตรการนี้มาใช้เพื่อลดการหลบเลี่ยงภาษี ขณะที่ประเทศในอาเซียนเริ่มปรับตัวเพื่อรองรับมาตรฐานใหม่
ใครได้รับผลกระทบมากที่สุด?
กลุ่มบริษัทที่มีการเสียภาษีต่ำกว่า 15% จะได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น บริษัทที่เคยได้รับการยกเว้นหรือมีอัตราภาษีต่ำมากในประเทศที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสูง โดยตัวอย่างบริษัทในประเทศไทย ได้แก่
- DELTA: จากเดิมเสียภาษีเฉลี่ย 4-5% หากต้องเสียภาษี 15% อาจกระทบกำไรสุทธิราว 1,000 ล้านบาท
- TU และ BGRIM: บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรสูงและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเดิม อาจต้องเผชิญกับภาระภาษีเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทต่าง ๆ อาจปรับกลยุทธ์เพื่อบริหารต้นทุน เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ให้สิทธิประโยชน์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษี
ตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไร ในวันที่ประกาศใช้?
ในระยะสั้น ตลาดหุ้นไทยอาจเผชิญกับแรงกดดันจากนักลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น อุตสาหกรรมที่เสียภาษีต่ำหรือได้รับการยกเว้นภาษี
แต่ในระยะยาว ผลกระทบอาจไม่รุนแรง เนื่องจากประเทศอาเซียนทั้งหมดต่างเข้าร่วม Global Minimum Tax ทำให้การแข่งขันด้านภาษีมีความเป็นธรรมมากขึ้น ผนวกกับนักลงทุนต่างชาติยังคงมองหาประเทศที่มีปัจจัยสนับสนุนอื่น เช่น โครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพแรงงาน และการสนับสนุนด้านนโยบาย
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังสามารถนำรายได้จากภาษีที่เพิ่มขึ้นไปพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลเชิงบวกต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในอนาคต
สรุปข้อดี-ข้อเสีย Global Minimum Tax
ข้อดี
- ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลไทย โดยเฉพาะจากบริษัทข้ามชาติที่เคยจ่ายภาษีในอัตราต่ำ
- สร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี ลดปัญหาการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมระหว่างประเทศ
ข้อเสีย
- การแข่งขันดึงดูดนักลงทุน: การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือดึงดูดการลงทุนได้อีก ไทยจะต้องพัฒนาปัจจัยอื่น ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพแรงงาน และความง่ายในการทำธุรกิจ
- ความเสี่ยงต่อบริษัทในประเทศ: บริษัทที่เคยได้รับสิทธิประโยชน์ BOI อาจต้องปรับตัวเพื่อรองรับต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น
ข้อเสนอแนะ
- ออกมาตรการชดเชย: เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่ออกกฎหมาย Refundable Investment Credit ให้บริษัทที่ลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษี
- ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน: เพื่อให้ไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนในระยะยาว
- ปรับปรุงกฎหมายภาษี: ให้สอดคล้องกับ Global Minimum Tax แต่ยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขัน
Global Minimum Tax เป็นมาตรการที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐและลดการหลบเลี่ยงภาษี แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความท้าทายให้กับนักลงทุนและบริษัทข้ามชาติที่ต้องปรับตัวกับภาระภาษีใหม่
แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นอาจมีผลกระทบต่อบริษัทที่เคยได้เปรียบด้านภาษี แต่ด้วยมาตรฐานเดียวกันในหลายประเทศ การแข่งขันระหว่างประเทศในภูมิภาคจะยังคงอยู่ในระดับที่เท่าเทียมกัน และด้วยการบริหารจัดการที่เหมาะสมของรัฐบาล ไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในระยะยาว