ตลาดทุนไทยถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในช่วงที่ผ่านมา ความท้าทายทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประสิทธิภาพของตลาดทุนโดยรวม
ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาตลาดทุนให้กลับมาแข็งแกร่งและเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ
ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ได้นำเสนอแนวทางที่เน้นการปรับปรุงตลาดทุนไทยในหลากหลายมิติ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความน่าเชื่อถือ (Trust), ความมั่นใจ (Confidence) และบรรยากาศเชิงบวก (Sentiment) ในตลาด ซึ่งเปรียบเสมือนรากฐานสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน
เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ดร. ทักษิณได้เสนอ 5 ปัจจัยหลักที่เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยให้กลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้ง ดังนี้
บังคับใช้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดในตลาดทุน
ดร. ทักษิณระบุว่า ตลาดหลักทรัพย์และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องเข้มงวดในเรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาล (Corporate Governance) ของบริษัทจดทะเบียน ไม่ควรปล่อยให้เกิดการเอาเปรียบผู้ลงทุนหรือสร้างความเสียหายต่อตลาด เช่น
- การจำนำหุ้นที่ไม่โปร่งใสจากการใช้ Margin แล้วนำไปสู่การโดน Force Selling
- หรือการใช้ High-Frequency Trading (HFT) ที่อาจสร้างความไม่เป็นธรรมในตลาดด้วยโรบอตเทรดดิง
พร้อมย้ำว่า หน่วยงานกำกับดูแลควรแก้ปัญหารวดเร็ว เมื่อมีการกระทำผิดที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทยต่อนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงอาจมีการพิจารณาให้กระทรวงการกำลังเตรียมพร้อมเพิ่มอำนาจ กลต. ให้เหมือนตำรวจสากล สามารถจัดการได้ทันทีไม่ต้องรอหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ อัยการ DSI เพื่อลดโอกาสแทรกแซงคำตัดสินของกระบวนการยุติธรรม
ฟื้นฟูกองทุน LTF
เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ดร. ทักษิณ ได้เสนอแนวทางสำคัญในการเสริมสร้างความน่าสนใจของตลาดทุนไทย ผ่านมาตรการที่มุ่งเสริมสภาพคล่องให้ตลาดทุนเติบโตและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หนึ่งในข้อเสนอที่ได้รับการเน้นย้ำ คือ การฟื้นฟูกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือการพัฒนากองทุนใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนโดยเฉพาะ
เนื่องจากกองทุน LTF เคยเป็นเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นการลงทุนในหุ้นไทยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุน ทำให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุนระยะยาว อีกทั้งยังช่วยเสริมความมั่นคงให้กับตลาดทุนโดยรวม หากนำ LTF กลับมาใช้อีกครั้งในรูปแบบที่ปรับปรุงให้ทันสมัยและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน จะช่วยดึงดูดนักลงทุนรายย่อยให้เข้ามามีบทบาทในตลาดมากขึ้น
การสร้างสมดุลในเศรษฐกิจดั้งเดิมและใหม่
ดร.ทักษิณชี้ว่า ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาด้านเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล อย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI), บล็อกเชน (Blockchain) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ซึ่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม การเกษตร การเงิน และการบริการ โดยการลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการที่มีอยู่
พร้อมเน้นว่าประเทศควรเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสนับสนุนการลงทุนใน Data Center และ AI Hub ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และระบบไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำและเสถียร เพื่อดึงดูดนักลงทุน
รวมถึงความจำเป็นในการรักษาสมดุลระหว่างอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งกำลังเผชิญความท้าทายจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กับการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพสูง เช่น Semiconductor และ Bio-Technology ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว
ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
ตลาดคาร์บอนเครดิตที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพจะดึงดูดนักลงทุนที่มองหาโอกาสในการซื้อขายสินทรัพย์ด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามามากขึ้น การมีตลาดที่ชัดเจนและโปร่งใสในประเทศไทยจะช่วยดึงเงินทุนใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) ในประเทศ
ข้อมูลปัจจุบันระบุว่าราคาคาร์บอนเครดิตในไทยอยู่ที่ประมาณ 7 ดอลลาร์/ตัน ต่ำกว่าประเทศชั้นนำในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ที่ 14 ดอลลาร์/ตัน และต่ำกว่าตลาดยุโรปที่สูงถึง 35 ดอลลาร์/ตัน
ดังนั้น การยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางจะช่วยสร้างตลาดที่มีความสมดุลและโปร่งใสมากขึ้น ส่งเสริมให้ราคาคาร์บอนเครดิตขยับขึ้นสู่ระดับที่ดีกว่า ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้ธุรกิจไทยพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ
ดร. ทักษิณ เน้นว่า รัฐบาลต้องมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เช่น การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs และการกระจายรายได้สู่ชนบท พร้อมแนะนำให้พิจารณามาตรการเชิงรุก เช่น การปรับปรุงระบบภาษีเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้นักลงทุน รวมถึง ดร. ทักษิณได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อผลักดันตลาดทุนไทยและเศรษฐกิจโดยรวมให้ก้าวหน้าในอนาคตต่อไป
ในระยะ 3 ปีข้างหน้า มีการตั้งเป้าหมายการเติบโตของ GDP ประเทศไทยในรูปแบบขั้นบันไดอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า GDP ปี 2024 จะเติบโตที่ 3% และขยับขึ้นเป็น 4% ในปี 2025 และ 5% ในปี 2026 ซึ่งหากสามารถทำได้จริงจะสะท้อนถึงการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย พร้อมทั้งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ด้วยการสนับสนุนจากการปรับตัวเชิงนโยบาย การพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจ และการเป็นศูนย์กลางในด้านต่าง ๆ เช่น คาร์บอนเครดิต และพลังงานสีเขียว ความคาดหวังดังกล่าวจึงไม่ใช่เพียงเป้าหมายในเชิงตัวเลข แต่ยังสะท้อนถึงศักยภาพและความมั่นใจของประเทศไทยในการก้าวสู่ความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในอนาคต