ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในโลก ด้วยมูลค่าตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนที่มหาศาลถึง 19 ล้านล้านเหรียญ (ประมาณ 640 ล้านล้านบาท) ครองอันดับหนึ่งเหนือสินทรัพย์ทั้งหมดบนโลก ทิ้งห่างอันดับที่สองอย่างมูลค่าบริษัท Apple ถึง 5 เท่า
ในอดีต ทองคำเคยเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและมาตรฐานเงินตรา แต่ปัจจุบันบทบาทของทองคำได้เปลี่ยนไปจากเงินตรากลายเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ใช้รักษาความมั่งคั่ง ที่ผู้ลงทุนเลือกถือครองในช่วงเศรษฐกิจผันผวน ส่งผลให้ความนิยมของทองคำยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยความสามารถในการรักษามูลค่าและเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ

ราคาทองคำพุ่งเพราะอะไร ?
ในช่วงที่ผ่านมา ราคาทองคำโลกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากแรงหนุนจากปัจจัยเศรษฐกิจ เช่น ความไม่แน่นอนทางการเมือง สงครามการค้า และนโยบายทางการเงินของประเทศมหาอำนาจ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ได้ลงนามในคำสั่งปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมเป็น 25% โดยไม่มีข้อยกเว้น มาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2568
รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และยอดค้าปลีก ซึ่งมีผลต่อการคาดการณ์นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางราคาทองคำ
โดยราคาทองคำพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในอาทิตย์ที่ผ่านมา ราคาทองไทย อ้างอิงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 พุ่งขึ้น 800 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก ราคาบาทละ 47,050 ร้านทองรับซื้อราคาบาทละ 45,616.44 ส่วนทองคำแท่งขายออก ราคาบาทละ 46,550 และร้านทองรับซื้อ ราคาบาทละ 46,450 ทำจุดสูงสุดในรอบเดือนกุมภาพันธ์ และราคาทองคำโลกปิดที่ระดับ 2,917 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ จากนั้นมีการปรับตัวขึ้นและลงตลอดสัปดาห์
นักวิเคราะห์จาก Bloomberg คาดการณ์ว่า หากสงครามการค้าลุกลามหรือเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบหนัก ราคาทองคำอาจแตะระดับ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์
นักลงทุนจึงมองทองคำเป็นที่หลบภัยในยามที่สินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ มีความผันผวน การศึกษาว่าควรลงทุนทองคำช่วงใดและใช้กลยุทธ์อย่างไร จึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง
ทำไมทองคำถึงเป็นที่นิยมทั่วโลก ?
ประวัติโดยย่อของ ‘ทองคำ’
ทองคำเป็นโลหะมีค่าที่อยู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่น เช่น ความแวววาว สีเหลืองทองที่สวยงาม ความอ่อนนุ่มที่สามารถดัดแปลงเป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้ง่าย และความทนทานต่อการผุกร่อน ทำให้ทองคำได้รับความนิยมและมีบทบาทสำคัญในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก
ในยุคแรกเริ่ม มนุษย์รู้จักทองคำมาตั้งแต่ประมาณ 40,000 ปีก่อนคริสต์กาล โดยพบหลักฐานการใช้ทองคำในถ้ำของมนุษย์โบราณที่บัลแกเรีย ต่อมาในอารยธรรมเมโสโปเตเมียเมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อนคริสต์กาล ทองคำถูกนำมาใช้เป็นเครื่องประดับเพื่อความสวยงาม และในอียิปต์โบราณ ทองคำถูกใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาและเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและอำนาจ โดยชาวอียิปต์เชื่อว่าทองคำคือเนื้อของเทพเจ้า จึงนำมาใช้สร้างรูปเคารพและเครื่องประดับสำหรับฟาโรห์
ส่วนในยุคกลาง ทองคำยังคงมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจยุโรป โดยถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และในประเทศไทย มีการผลิตแร่ทองคำมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏในพงศาวดารว่า ในปี พ.ศ. 2290 สมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มีการพบแร่ทองคำที่ตำบลบางสะพาน ซึ่งแสดงถึงความสำคัญของทองคำในประวัติศาสตร์ไทย
แต่การยกเลิกระบบมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก ระบบ Gold Standard คือระบบที่ใช้ทองคำเป็นหลักประกันมูลค่าของเงินตรา โดยเงินแต่ละสกุลจะถูกกำหนดมูลค่าตามปริมาณทองคำที่ประเทศนั้นถือครอง
อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1971 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ของสหรัฐฯ ได้ประกาศยกเลิกการผูกค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กับทองคำ (Nixon Shock) ทำให้ระบบ Gold Standard สิ้นสุดลง และเงินตรากลายเป็นเงินแบบ Fiat Currency ที่มีมูลค่าจากความเชื่อมั่นของประชาชนและรัฐบาลแทน ส่งผลให้ราคาทองคำเริ่มเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น โดยราคาทองคำมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และอุปสงค์-อุปทาน
ประโยชน์ของทองคำ
ปัจจุบัน แม้ว่าระบบมาตรฐานทองคำจะถูกยกเลิก แต่ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากความมั่นคงและความสามารถในการรักษามูลค่าในระยะยาว เพราะทองคำนั้นมีกระบวนการผลิตที่ยาก ลำบากตั้งแต่การสำรวจ ตัด ร่อน หลอม ขึ้นรูปจึงมีอุปทานของทองใหม่เพียง 2-3% ต่อปีเท่านั้น
ทำให้ทองคำมีคุณสมบัติเด่นเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) มีความทนทานและมีสภาพคล่องสูง ทำให้เป็นที่นิยมทั้งเพื่อการลงทุนและสะสม โดยในระยะยาวราคาทองคำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามเวลาและมักปรับตัวขึ้นในช่วงที่ตลาดการเงินมีความผันผวน
นอกจากนี้ ทองคำยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ และการบินและอวกาศ ซึ่งยิ่งเสริมความสำคัญของทองคำในเศรษฐกิจโลก
ลงทุนทองคำช่วงไหน ผลตอบแทนดีที่สุด
หลักการลงทุนที่ทุกคนเห็นภาพตรงกันคือ ซื้อตอนที่สินทรัพย์ราคาถูกแล้วขายในช่วงที่สินทรัพย์ราคาแพง ฉะนั้นทองคำก็เช่นกัน หากต้องการซื้อในช่วงที่ทองคำถูกหรือต้นรอบขาขึ้นก็จำเป็นต้องเข้าใจวัฏจักรเศรษฐกิจพอสังเขป โดยแต่ละสินทรัพย์จะมีช่วงเวลาที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดต่างกัน

ช่วงเศรษฐกิจ | สินทรัพย์ที่เหมาะลงทุน | เหตุผล |
---|---|---|
ขาขึ้น (Expansion) | หุ้น, กองทุนอสังหาฯ (REITs) | ผลตอบแทนสูงจากการเติบโตของธุรกิจ |
จุดสูงสุด (Peak) | หุ้นคุณค่า (Value Stocks), ทองคำ | เริ่มป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวน |
ขาลง (Recession) | ทองคำ, พันธบัตรรัฐบาล | สินทรัพย์ปลอดภัย ลดความเสี่ยงขาดทุน |
จุดต่ำสุด (Trough) | ทองคำ, หุ้นเติบโต (Growth Stocks) | เตรียมเก็บสินทรัพย์ก่อนราคาฟื้นตัว |
จากกราฟและตาราง จะเห็นได้ว่าเวลาที่เหมาะกับการลงทุนทองคำมากที่สุด คือช่วงเงินเฟ้อสูงหรือวิกฤตเศรษฐกิจ ราคาทุก ๆ สินทรัพย์จะเกิดความผันผวน ส่งผลให้ราคาทองมักจะพุ่งสูง ดึงดูดนักลงทุน
หรือกระทั่งช่วงที่เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สร้างความไม่แน่นอน นักลงทุนมักจะหันไปหาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ราคาปรับสูงขึ้น ดังนั้นต้องคอยติดตามสภาวะเศรษฐกิจอยู่เสมอ
แต่หากเลือกระยะในช่วงปี เดือนที่เหมาะสุดอาจเป็นเดือนมกราคม เนื่องจากมีการขายออกเพื่อทำกำไร ทำให้ความต้องการลดลงหลังเทศกาลปีใหม่ และเก็งราคาว่าทองจะเริ่มปรับขึ้นอีกครั้งก่อนใกล้เทศกาลตรุษจีน กระตุ้นแรงซื้อจากคนจีนที่นิยมทองคำ
หน้าที่ทองคำในพอร์ตการลงทุน
- การกระจายความเสี่ยง : ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์ต่ำกับตลาดหุ้นและตราสารหนี้ ทำให้สามารถลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในช่วงที่ตลาดการเงินไม่แน่นอน การถือทองคำร่วมกับสินทรัพย์อื่น เช่น หุ้น พันธบัตร และอสังหาริมทรัพย์ ช่วยสร้างสมดุลและลดความเสียหายในกรณีที่ตลาดสินทรัพย์อื่นปรับตัวลง
- การรักษามูลค่าระยะยาว : ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในระยะยาวและมักปรับตัวขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจหรือภาวะเงินเฟ้อสูง การมีทองคำในพอร์ตช่วยป้องกันการลดลงของมูลค่าพอร์ตที่เกิดจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และช่วยสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว
ความเสี่ยงในการลงทุนทองคำและวิธีป้องกันความเสี่ยง
ความเสี่ยงด้านราคาแรกก็คือ ราคาทองคำอาจมีความผันผวนสูงตามภาวะตลาดโลกและปัจจัยเศรษฐกิจ เช่น ค่าเงินดอลลาร์ เงินเฟ้อ หรือเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนจากการซื้อขายในระยะสั้น โดยเฉพาะหากซื้อในช่วงที่ราคาสูงและต้องขายในช่วงที่ราคาลดลง
แล้วยังมีความยากต่อการเก็บรักษา การถือครองทองคำแท่งมีต้นทุนการเก็บรักษาที่ต้องลงทุนในการซื้อตู้เซฟ และเสี่ยงต่อการสูญหายหรือถูกโจรกรรม ซึ่งต่างจากการลงทุนในทองคำผ่าน Gold ETF หรือ Gold Futures ที่ไม่ต้องเก็บรักษาทองคำจริง
อีกข้อสำคัญที่นักลงทุนไทยต้องรู้ หากต้องการลงทุนในทองคำที่ซื้อขายทั่วโลกต้องซื้อทองคำที่มีความบริสุทธิ์ 99% หรือทองคำ 24K เท่านั้น แม้คนไทยจะชินกับการซื้อขายทองคำผสม 96.5% เพราะทองคำที่มีค่าความบริสุทธิ์ 99.99% จะมีความอ่อนตัว ทำให้ไม่นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับหรือทองรูปพรรณ จึงต้องเพิ่มโลหะอื่น ๆ เข้ามาด้วย เพื่อความแข็งแรงและมีความทนทาน ขึ้นรูปและทำลวดลายต่าง ๆ ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น วิธีป้องกันความเสี่ยง นักลงทุนควรกำหนดเป้าหมายการลงทุนและใช้กลยุทธ์กระจายความเสี่ยง เช่น การลงทุนแบบ DCA (Dollar-Cost Averaging) หรือการถือครองทองคำร่วมกับสินทรัพย์อื่นเพื่อสร้างสมดุลในพอร์ตการลงทุน รวมถึงการติดตามข่าวสารเศรษฐกิจเพื่อปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม
ช่องทางลงทุนทองคำออนไลน์
ร้านค้าทองคำออนไลน์
วิธีแรกการซื้อขายทองออนไลน์กับร้านทองคำที่มีมาตรฐานรับรอง เนื่องจากวิธีที่สะดวก รวดเร็ว และลงทุนได้ด้วยเงินเริ่มต้นเพียงหลักร้อยบาท นักลงทุนสามารถเลือกซื้อแบบรายวันหรือรายเดือนตามรูปแบบ DCA (Dollar-Cost Averaging) ที่ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของราคา โดยเมื่อซื้อทองครบตามเงื่อนไข ก็สามารถถอนออกมาเป็นทองคำจริงได้
ตัวอย่างแอปฯ ยอดนิยม ได้แก่
- YLG
- แม่ทองสุก (MTS)
- GCAP
- ฮั่วเซ่งเฮง
- AUSIRIS
- ARR Gold Saving
- Gold2Go
ซึ่งแต่ละแอปฯ มีเงื่อนไขการลงทุนที่หลากหลายและยืดหยุ่น
กองทุนรวมทองคำ
สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในทองคำ แต่ไม่อยากซื้อเก็บ อีกช่องทางที่น่าสนใจคือ “การลงทุนผ่านกองทุนรวมทองคำ” เป็นวิธีลงทุนทางอ้อมที่ไม่ต้องซื้อทองจริง แต่ลงทุนผ่านกองทุนที่มีผู้จัดการกองทุนดูแล เช่น SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุนทองคำที่ใหญ่ที่สุด ช่วยให้ราคาที่ลงทุนใกล้เคียงกับราคาทองคำโลก (Gold Spot) นักลงทุนควรเลือกกองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน (Fully Hedging) เพื่อลดความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน
เทรดทองผ่านตราสารอนุพันธ์ (Gold Futures)
เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนระยะสั้น เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงมาก โดยเป็นการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าเพื่อเก็งกำไรจากการขึ้นหรือลงของราคาทอง ผู้ลงทุนต้องวางเงินหลักประกัน (Initial Margin) และเฝ้าระวังระดับเงินประกันขั้นต่ำ (Maintenance Margin) หากราคาทองผันผวนหนัก การเทรด Gold Futures อาจนำไปสู่การขาดทุนหนักหากไม่บริหารความเสี่ยงอย่างมีวินัย
การลงทุนผ่านหุ้นทองคำ
เป็นการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทองคำ เช่น บริษัทเหมืองทองหรือบริษัทค้าทอง นักลงทุนต้องวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ เช่น ผลประกอบการ ความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และสถานะทางการเงิน ควบคู่กับการวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อจับจังหวะซื้อขาย หุ้นทองคำที่นิยมในไทย เช่น AURA หรือการลงทุนผ่านกองทุน ETF ที่เน้นหุ้นเหมืองทอง (Gold Miner ETF)
แม้ว่าเทคโนโลยีจะทำให้การซื้อทองง่ายขึ้น แต่การซื้อทองจากร้านทองยังคงเป็นวิธีที่ได้รับความนิยม เพราะผู้ซื้อสามารถเห็นและสัมผัสทองจริงพร้อมรับทองกลับบ้านทันที
อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังเรื่องการจัดเก็บทองเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่มักเลือกซื้อทองคำแท่งมากกว่าทองรูปพรรณ เนื่องจากราคาซื้อ-ขายต่างกันน้อยกว่า ทำให้ได้กำไรเร็วขึ้นเมื่อราคาทองปรับขึ้น
ดังนั้น การลงทุนในทองคำจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ผสานความรู้ทางเศรษฐกิจเข้ากับกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยง แม้ว่าตลาดจะมีความผันผวน แต่ทองคำยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยปกป้องมูลค่าและสร้างโอกาสให้กับนักลงทุน