ด้วยอายุขัยของคนไทยที่มีแนวโน้มอยู่ได้นานมากขึ้น แนวคิดเกี่ยวกับการเก็บเงินเกษียณจึงเริ่มมีความสำคัญ คำถามคือแล้วเราจะมีอายุถึงเท่าไหร่ ? 70, 85 หรือ 100 ปี ? คนเกษียณอายุด้วยอิสรภาพทางการเงินโดยเฉพาะเมื่อมีโอกาสใช้ชีวิตถึง 100 ปี ต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ มีวินัย และมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน พบกับ BT Original Life Series พบกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินคุณ กวี ชูกิจเกษม หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ พาย พร้อมแนวทางวางแผนการเงินให้อายุถึง 100 ปี
มีอิสรภาพทางการเงิน ไม่ได้หมายถึงการเป็นคนรวย ?
เรามักจะมีแนวคิดว่าการมีอิสรภาพทางการเงิน คือเราสามารถใช้เงินได้อย่างสบายใจไม่ต้องคอยกังวลว่าจะมีปัญหาเงินขาดมือ ซึ่งอันที่จริงนี่ก็ไม่ใช่แนวคิดที่ผิด แต่การมีอิสรภาพทางการเงินไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนรวยล้นฟ้าเสมอไป
แล้วรวยล้นฟ้า…แต่ทำไมยังไม่ ‘อิสระ’ ทางการเงิน ? ลองจินตนาการถึงคฤหาสน์หรู ที่ต้องมีคนสวนดูแล มีทีมแม่บ้านคอยจัดการค่าใช้จ่ายรายเดือนก็สูงลิ่ว ! แม้จะมีเงินเป็นร้อยล้าน แต่ถ้าวันหนึ่งเลิกทำงาน จะแน่ใจได้อย่างไรว่า ‘อิสระ’ จริง ? เพราะภาระค่าใช้จ่ายจากไลฟ์สไตล์หรูหราตอนทำงาน ยังคงตามมาหลอกหลอนนั่นเอง ดังนั้นการมีอิสรภาพทางการเงินที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขในบัญชี แต่อยู่ที่ ‘ความพอดี’ และ ‘ความต้องการ’ ที่เหมาะสมในวัยเกษียณต่างหาก และบทความนี้จะมาแนะนำให้คุณสามารถมีอิสรภาพทางการเงินได้
ขั้นตอนที่ 1 : กำหนดเป้าหมายการเกษียณให้ชัดเจน
ก่อนเริ่มเข้าสู่ขั้นตอน การกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนสำหรับวิถีชีวิตหลังเกษียณคือเรื่องที่สำคัญมาก เพราะนี่จะเป็นแนวทางในการจัดการเงินอย่างมีเป้าหมาย เริ่มจากการถามคำถามที่สำคัญก่อน ดังต่อไปนี้
- คุณต้องการเกษียณเมื่ออายุเท่าไหร่ ? แทนที่จะยึดอายุเกษียณแบบดั้งเดิมที่ 60 ปี ให้เลือกอายุที่สอดคล้องกับเป้าหมายและวิถีชีวิตของคุณ
- การเกษียณของคุณจะยาวนานแค่ไหน ? ด้วยอายุขัยที่เพิ่มขึ้น ควรวางแผนสำหรับการเกษียณที่อาจยาวถึง 100 ปี
- คุณต้องการใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ ? คำนึงถึงเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น เพื่อรักษาค่าใช้จ่ายรายเดือน 50,000 บาท เป็นเวลา 40 ปีหลังเกษียณ (อายุ 60 ถึง 100 ปี) คุณอาจต้องการเงินประมาณ 36.8 ล้านบาท หากเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทน 24 ล้านบาท หากลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทน 2% (หลังหักเงินเฟ้อ) หรือ 16 ล้านบาท หากลงทุนในพันธบัตรองค์กรคุณภาพสูงที่ให้ผลตอบแทน 4% เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 2 : ออมเงินอย่างจริงจังและให้ความสำคัญกับการลงทุน
การออมเงินให้มากที่สุดจากรายได้ของคุณเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างกองทุนเกษียณ และควรหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น เพราะอย่างที่คุณพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ได้กล่าวไว้ว่า ‘มนุษย์มีความสามารถในการใช้เงินที่มากขึ้นทันทีที่มีรายได้มากขึ้น’ ดังนั้นควรเลี่ยงการใช้เงินที่เกินความจำเป็น อย่ามองว่าเราสามารถใช้เงินได้มากแค่ไหน ให้มองว่าเราสามารถเก็บได้มากแค่ไหนต่อเดือน แล้วเป้าหมายการใช้เงินจะเปลี่ยนไป
- เพิ่มการออมให้สูงสุด : แทนที่จะคิดว่าคุณจะใช้จ่ายได้เท่าไหร่ ให้เน้นว่าคุณจะออมได้เท่าไหร่ในแต่ละเดือน
- ลงทุนตั้งแต่เนิ่น ๆ และต่อเนื่อง : เริ่มลงทุนให้เร็วที่สุดเพื่อใช้ประโยชน์จากดอกเบี้ยทบต้น ตัวอย่างเช่น ซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือกองทุนพันธบัตร เพราะการซื้อสองอย่างนี้ให้ผลตอบแทนคงที่ 2-3% ด้วยความเสี่ยงต่ำ หรืออาจลงทุนกับพันธบัตรองค์กรคุณภาพสูง ซึ่งจะให้ผลตอบแทนประมาณ 4% ด้วยความเสี่ยงที่สูงขึ้นเล็กน้อย หุ้นที่จ่ายเงินปันผลหรือกองทุนหุ้น ตัวนี้จะเหมาะสำหรับการเติบโตในระยะยาว แต่ต้องเลือกอย่างระมัดระวังเช่นกัน แนะนำว่าควรตั้งค่าการโอนเงินอัตโนมัติไปยังบัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีลงทุนทุกเดือน พยายามออมอย่างน้อย 20-30% ของรายได้
ขั้นตอนที่ 3 : เลือกการลงทุนที่สร้างกระแสเงินสด
เน้นสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการเกษียณ หลีกเลี่ยงการพึ่งพาสินทรัพย์เก็งกำไร เช่น คริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งไม่สร้างรายได้และขึ้นอยู่กับการเพิ่มขึ้นของราคา แต่คุณกวีก็ไม่ได้ปิดกั้นว่าไม่ควรลงทุนเลย เพียงแต่ต้องมีความเข้าใจในเรื่องที่จะลงทุนอย่างจริงจัง ‘แน่นอนว่าการลงทุนมีความเสี่ยง แค่การไม่ลงทุนเลยเสี่ยงกว่า แต่ถ้าลงทุนโดยไม่มีความรู้เลย ก็จะเสี่ยงที่สุดเหมือนกัน’ โดยคุณกวีก็แนะนำว่าควรลงทุนต่อไปนี้
- พันธบัตร : พันธบัตรรัฐบาลหรือพันธบัตรองค์กรระดับลงทุนให้ผลตอบแทนที่คาดการณ์ได้
- หุ้นปันผล : เลือกบริษัทที่มีประวัติการจ่ายเงินปันผลที่แข็งแกร่ง
- อสังหาริมทรัพย์ : อสังหาริมทรัพย์ที่สร้างรายได้จากค่าเช่าสามารถเป็นแหล่งเงินสดที่เชื่อถือได้
- สินทรัพย์ทางเลือก : สินค้าโภคภัณฑ์ (เช่น เกษตรกรรม) หรือคริปโทเคอร์เรนซีสามารถกระจายพอร์ตได้ *แต่ไม่ควรเป็นกลยุทธ์หลัก
แนะนำว่าควรปรึกษาที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนที่หลากหลาย โดยมีอย่างน้อย 70% ในสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสด เพราะการลงทุนกับกระแสเงินสดจะเป็นแนวทางที่มั่นใจได้ว่าในอนาคตจะได้รับเงินปันผลอย่างแน่นอน
ขั้นตอนที่ 4 : ใช้ประโยชน์จากการลงทุนที่ได้รับการยกเว้นภาษี
ลดภาระภาษีเพื่อเพิ่มเงินออมสูงสุด เพราะการลงทุนและค่าใช้จ่ายบางประเภทสามารถลดรายได้ที่ต้องเสียภาษีได้ ยกตัวอย่างที่ควรลงทุน เช่น
- ประกันชีวิต : เบี้ยประกันสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ตามวงเงินที่กำหนด
- กองทุนรวมเพื่อการเกษียณ (RMF) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ : เงินสมทบสามารถลดรายได้ที่ต้องเสียภาษี
- การเป็นเจ้าของบ้าน : ดอกเบี้ยจำนองอาจสามารถหักลดหย่อนได้
นอกเหนือจากนี้ ควรตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีกับที่ปรึกษาทางการเงินและลงทุนในเครื่องมือที่ได้รับการยกเว้นภาษี เช่น RMF หรือประกันตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
ขั้นตอนที่ 5 : รักษาวินัยและปรับตัวตามความต้องการที่เปลี่ยนไป
อิสรภาพทางการเงินต้องใช้ความมุ่งมั่นในระยะยาวและการปรับเปลี่ยนเป็นระยะ คุณกวีเปรียบเทียบว่าเหมือนการออกกำลังกายเพราะหากไม่มีวินัย ผลลัพธ์ก็จะไม่ตรงตามเป้าหมาย
- สร้างวินัย : ปฏิบัติต่อการออมและการลงทุนเหมือนค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถต่อรองได้ ต้องยอมเสียสละความสุขระยะสั้นเพื่อความมั่นคงระยะยาว
- ติดตามและปรับเปลี่ยน : ประเมินพอร์ตการลงทุนและค่าใช้จ่ายทุก ๆ สองสามปีเพื่อคำนึงถึงเงินเฟ้อ การเปลี่ยนแปลงของตลาด และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต
- มีทัศนคติที่ยืดหยุ่น : แม้จะมีอิสรภาพทางการเงิน คุณอาจเลือกทำงานนอกเวลา หรือทำโปรเจกต์ที่ชอบซึ่งสามารถเพิ่มทั้งรายได้และความสมบูรณ์ในชีวิตได้เช่นกัน
สรุปใจความสำคัญ
- ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน : กำหนดอายุเกษียณ วิถีชีวิต และเป้าหมายการออม
- ออมและลงทุนอย่างชาญฉลาด : ให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสดและการลงทุนที่ได้รับการยกเว้นภาษี
- รักษาวินัย : เสียสละการใช้จ่ายระยะสั้นเพื่ออิสรภาพระยะยาว
- วางแผนเพื่ออายุยืนยาว : เตรียมพร้อมสำหรับชีวิต 100 ปีด้วยกลยุทธ์ด้านสุขภาพและการเงิน
‘อิสรภาพทางการเงินไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เริ่มต้นด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนและวินัยในการลงมือทำ’ กวี ชูจิตรเกษม กล่าว ดังนั้นมาเริ่มต้นวางแผนเกษียณตั้งแต่วันนี้ เพื่ออนาคตที่มั่นคงและมั่งคั่ง…แล้วพบกันในวัย 100 ปี !
รับชมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=Svexne7NWUg