ความจริงที่ต้องยอมรับกันได้แล้ว คือเศรษฐกิจของเวียดนามจะมีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยในอีก 15 ปีข้างหน้าหรือภายในปี 2578 หากจังหวะในการวิ่ง (หรือเดิน) ของเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศยังเป็นแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ (CEBR) ที่รายงานว่าเศรษฐกิจของเวียดนามจะยังเติบโตได้อย่างร้อนแรง 7% ต่อปีต่อเนื่องไปในทศวรรษนี้และจะค่อยปรับลดเป็นโตเฉลี่ยปีละ 6.6% ในทศวรรษถัดไป ซึ่งมูลค่าของขนาดเศรษฐกิจที่เราวัดกันด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP นั้นจะแซงหน้าประเทศอย่างไทยและไต้หวันในไม่ช้า 

คาดว่าอีก 15 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจของเวียดนามจะแตะ 1.59 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันที่ 3.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ นั่นคือเติบโตอีก 5 เท่าจากปัจจุบัน

เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะภาคการส่งออกของเวียดนามกับประเทศไทย จากข้อมูลเว็บไซต์ World Top Exports พบว่าสินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยในปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์, ยานพาหนะ, อัญมณี และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่สินค้าขายดีของเวียดนามคือ สินค้าอิเล็ทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า, รองเท้า, เสื้อผ้าและเครื่องประดับ, คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์, และสินค้าไหมพรมถัก หากมองง่าย ๆ ก็อาจคิดว่าโครงสร้างสินค้าส่งออกเวียดนามยังเน้นการผลิตสินค้าที่ไม่มีมูลค่าเพิ่มมากนัก เน้นใช้แรงงานราคาถูกเพื่อให้ต้นทุนต่อชิ้นต่ำ อย่างรองเท้าและเสื้อผ้า ประเทศไทยเราน่าจะได้เปรียบกว่ามากเพราะผลิตรถยนต์ขาย ส่งออกอัญมณีมูลค่าสูง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เราก็ผลิต

…มองแบบนั้นง่ายเกินไป

เพราะเมื่อไปดูสัดส่วนจะพบว่าสัดส่วนสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยใกล้เคียงกับอันดับรองลงมาที่ 15-20% ขณะที่สินค้าอันดับ 1 ของเวียดนามอย่างอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโทรศัพท์มือถือครองสัดส่วนมากกว่า 40% เท่ากับว่าเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าสินค้าส่งออกของเวียดนามเป็นสินค้าไฮเทค ใช้เทคโนโลยีใหม่ ส่วนสินค้าหลักของไทยอย่างยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบนั้นยังเน้นเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือ ICE เหมือนกับที่เคยผลิตมาตลอดหลายสิบปีนับจากยุคที่เราเคยเนื้อหอม ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติอันดับหนึ่งของอาเซียนในยุคก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540

โรงงานผลิตโทรศัพท์มือถือแห่งหนึ่งในเวียดนาม เครดิตภาพ: Vietnam News

จริงอยู่ที่วันนี้เราพูดกันเรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรืออีวี ซึ่งไทยควรใช้ความได้เปรียบในการเป็นฐานผลิตรถยนต์ระดับโลกเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ศูนย์กลางการผลิตอีวีที่สำคัญ แต่เรื่องนี้ยังเป็นโจทย์ที่ใหญ่มาก สำหรับการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งมโหฬาร รวมทั้งการใช้งบประมาณเพื่ออุดหนุนและจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถอีวีกันมากขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องทำและต้องรีบทำก่อนที่ประเทศอื่นในภูมิภาคจะชิงโอกาสไปเสียก่อน

เมื่อมองกลับไปที่เวียดนาม เมื่อช่วงสิ้นปี 2563 ที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุง (Samsung) ก็ประกาศปิดโรงงานผลิตโทรทัศน์ขนาดใหญ่ในจีนลงและย้ายฐานการผลิตมาที่เวียดนามแทนที่เมืองโฮจิมินห์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการตั้งโรงงานในจีนซึ่งยังมีความตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐอเมริกาต่อเนื่องไปในอนาคต จากนี้เวียดนามจึงกลายเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปสู่ตลาดโลกของซัมซุง ซึ่งต้องยอมรับความใจป้ำของรัฐบาลเวียดนามที่ยกเว้นภาษีนำเข้าส่งออกรวมทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อแลกกับการให้ซัมซุงคงรายได้จากการส่งออกเวียดนามไว้ที่ 90%

ฟังดูเข้าท่าดีและมีแนวโน้มที่จะเติบโตอีกมาก แต่ KKP Research ก็ประเมินว่าเวียดนามจะเจอโจทย์เดียวกับที่ประเทศไทยเคยเจอเมื่อหลายสิบปีก่อนสมัยที่ยังเนื้อหอม นั่นคือการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตต่างชาติสู่องค์ความรู้แก่คนเวียดนามเพื่อพัฒนาชาติต่อไป ไม่ใช่มาผลิตและใช้ทรัพยากรภายในประเทศอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่สุดท้ายแรงงานในประเทศกลับไม่ได้พัฒนาขึ้นเลย ชนชั้นกลางในเวียดนามจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนไปถึงจุดจุดหนึ่งที่เป็นกับดักประเทศรายได้ปานกลางอย่างที่ประเทศไทยติดมานานแสนนาน ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคตและคงต้องวัดฝีมือการพัฒนาชาติในระยะยาวของเวียดนามเขาอีกที

นอกเหนือจากโครงสร้างของสินค้า Best Seller ของทั้งสองชาติแล้ว สิ่งที่เราต้องทบทวนกันให้ดีคือ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เร็วกว่าปลายประเทศในอาเซียน แรงงานเรากำลังจะน้อยลง แน่นอน ค่าแรงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นเท่าตัว การบริโภคในประเทศก็จะน้อยลง ขณะที่เวียดนามยังมีคนหนุ่มสาวเป็นประชากรส่วนใหญ่ แรงงานมีอย่างเหลือเฟือ ถึงตอนนี้เน้นขายแรงงานราคาถูกอยู่ (ถูกกว่าไทยครึ่งหนึ่ง) แต่ถ้าวันข้างหน้าเขาเร่งเครื่องพัฒนาแรงงานทักษะสูง ผลิตเทคโนโลยีของตัวเองได้ ตอนนั้นก็คงจะแข่งขันได้ยากขึ้น

เวลาเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยกับเวียดนาม ก็มักจะมีดราม่า มีคนบ่นน้อยใจ แต่สถานการณ์ตอนนี้บ่นอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องลุกขึ้นมาและวิ่งไปข้างหน้าได้แล้ว

บ่นก็ต้องวิ่ง ไม่บ่นก็ต้องวิ่ง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส