กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ทันที เมื่อรถไฟฟ้าบีทีเอสเผยแพร่คลิปของ ‘สุรพงษ์ เลาหะอัญญา’ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มบีทีเอสทวงถามหนี้ค้างชำระจากกรุงเทพมหานครราว 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยค่าจ้างเดินรถตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 เป็นเงิน 9.6 พันล้านบาทและค่าซื้อระบบการเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกลอีกเกือบ 2.08 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการทวงหนี้ผ่านสื่อให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างของสาธารณะชนที่ไม่ค่อยได้พบเห็นกันสักเท่าไหร่
เรื่องนี้ไม่ปกติแน่ ๆ
ถ้ายังจำกันได้ รถไฟฟ้าบีทีเอส (สายสุขุมวิทและสายสีลม) คือจุดเริ่มต้นของรถไฟฟ้าในประเทศไทยโดยกลุ่มบีทีเอสตั้งแต่ปี 2542 และก่อสร้างส่วนต่อขยายเรื่อยมา นับเป็นระยะเวลา 22 ปีแล้วที่คนกรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าใช้ เดินทางสะดวกและเป็นทางเลือกให้กับประชาชน เมื่อขยายเส้นทางออกไปถึงสถานีสำโรงและคูคต ก็เป็นการเชื่อม 3 จังหวัดอย่างกรุงเทพฯ สมุทรปราการ และปทุมธานีเข้าด้วยกัน ไม่เพียงแต่ทำให้การสัญจรคล่องตัวเท่านั้น ยังสร้างอานิสงห์ให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผุดโครงการคอนโดตามแนวรถไฟฟ้าจำนวนมากด้วย จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย งบการเงินไตรมาส 3 ปีบัญชี 2564 ของบีทีเอส (1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2563) มีสินทรัพย์กว่า 200,000 ล้านบาท รายได้กว่า 30,000 ล้านบาท และมีกำไรเกือบ 2,900 ล้านบาท
โจทย์ที่ซับซ้อนคือ กรุงเทพมหานคร หรือ กทม. เป็นผู้แบกรับหนี้ทั้งหมดเกือบ 150,000 ล้านบาทของรถไฟฟ้าสายสีเขียวและใช้วิธีเจรจากับทางกลุ่มบีทีเอส โดยแปลงหนี้ก้อนโตเป็นการร่วมลงทุน ซึ่งกทม.จะนำรายได้ส่วนแบ่งจากค่าโดยสารที่คาดว่าจะเก็บได้ถึง 200,000 ล้านบาทตลอดอายุสัญญาสัมปทานใหม่เอามาใช้แทนโดยเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป จากกำหนดเดิมที่สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะหมดในปี 2572 หลังจากนั้นรถไฟฟ้าจะเป็นของ กทม. ซึ่งต้องบริหารจัดการเองต่อไป
พูดให้เข้าใจง่ายก็คือให้ทางบีทีเอสรับภาระไปก่อนและค่อยนำเงินในอนาคตมาใช้หนี้แทน โดยกำหนดให้เก็บค่าโดยสารได้สูงสุด 65 บาทตลอดสาย
ไม่ควักจ่าย แต่ให้เป็นการต่อสัมปทาน 30 ปีแทน ระหว่างทางก็แบ่งรายได้กัน
ทุกอย่างก็ดูสมประโยชน์กันดี จนเมื่อเกิดประเด็นล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) ซึ่งทางบีทีเอสได้ร้องต่อศาลปกครองกรณีเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลใหม่กลางคัน และทำให้กำหนดการของรถไฟฟ้าเส้นนี้ต้องเลื่อนออกไป เป็นการเปิดศึกชิงเค้กก้อนใหญ่ระหว่าง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุง จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และกลุ่มบีทีเอสที่ต้องชิงไหวชิงพริบ ไม่มีใครยอมใครทั้งนั้น ซึ่งทางบีทีเอสเดินหน้าปล่อยหมัดอย่างต่อเนื่องจนเป็นพาดหัวข่าวอยู่บ่อยครั้ง ยังไม่นับประเด็นส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลืองของบีทีเอสที่ควรจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีลาดพร้าวที่ BEM อ้างว่าจะทำให้รายได้ค่าโดยสารหายไป 3,000 ล้านบาท และเรียกร้องค่าชดเชย รวมทั้งสารพัดโครงการประมูลที่ยังอยู่ในช่วงลูกผีลูกคนอีกด้วย
สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเมื่อข้อเสนอต่อสัมปทานแลกใช้หนี้ยังไม่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีทั้งที่เสนอเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว เป็นการส่งสัญญาณถึงบีทีเอสว่า ‘ไม่โอเค’ ทั้งที่บีทีเอสหมายมั่นปั้นมือเตรียมเดินเครื่องต่อแล้วแท้ ๆ จึงไม่แปลกที่แถลงของผู้บริหาร BTSC จะระบุว่า “ดูเหมือนว่าจะมีปัญหาที่ซ้อนปัญหาอยู่ภายใน ซึ่งบริษัทไม่สามารถก้าวล่วงได้ ประกอบกับมีบุคคลบางกลุ่ม บางฝ่าย อาจต้องการที่ไม่ให้เรื่องดังกล่าวได้รับการแก้ไข”
กลายเป็นการเมืองบนเกมธุรกิจขึ้นมาทันที และคราวนี้บีทีเอสก็พร้อมชนหน้าฉากเสียด้วย
ท่าทีของผู้ว่าฯกทม. รวมทั้งระดับบิ๊กของรัฐบาลที่มีต่อเรื่องนี้ก็ดูจะนิ่งเฉยเสียมากกว่าจะเดือดเนื้อร้อนใจอย่างที่ควรจะเป็น เปรยทำนองว่าอยากจะฟ้องก็ฟ้องได้ จึงต้องดูท่าทีของทางบีทีเอสและภาครัฐว่าจะแก้เกมกันอย่างไรนับจากนี้ สิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดและไม่ควรจะเกิดคือ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับการเดินรถไฟฟ้า ซึ่งมีคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหนาครและปริมณฑลเป็นตัวประกัน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลถูกทวงหนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็เพิ่งจะส่งหนังสือ 4 ฉบับทวงหนี้ 25,000 ล้านบาทเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งเรื่องนี้เป็นคดีความมาอย่างยาวนานและเป็น ‘ตำนานค่าโง่หมื่นล้าน’ ที่สร้างรอยแผลเป็นให้กับสังคมไทย ตอกย้ำปัญหาการเจรจาและตกลงทำโครงการขนาดใหญ่โดยภาครัฐและเอกชนที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพียงแต่เปลี่ยนตัวละครและผู้กำกับเท่านั้น
คดีความของเอกชนที่ยื่นฟ้องร้องรัฐบาลมีอยู่ไม่น้อยที่ยังอยู่ในชั้นศาล ขณะเดียวกันโครงการขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานก็ยังเดินหน้าต่อไป ข้อขัดแย้งก็ต้องแก้ไข ส่วนงานที่ต้องทำก็เดินหน้าต่อไป เรารู้ดีว่าทุกอย่างเป็นไปได้บนโต๊ะเจรจาเสมอ เมื่อ ‘อะไรต่อมิอะไร’ ลงตัว เมื่อนั้นทุกอย่างก็ดูราบรื่นและชื่นมื่นไปหมด
การเมืองกับธุรกิจไม่เคยมีมิตรแท้และศัตรูถาวรอยู่แล้ว หวังเพียงแต่ว่าทุกข้อตกลงที่เกิดขึ้นจะไม่จบลงที่การผลักภาระไปให้กับผู้บริโภคที่ต้องจ่ายเงินค่าเดินทางหรือสาธารณูปโภคพื้นฐานแพงขึ้น
ภาครัฐ เอกชน และประชาชนต้องไปด้วยกัน จึงจะอยู่รอด
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส