“สรยุทธจะกลับมาอ่านข่าวแล้ว”
เป็นเรื่องที่พูดกันทั่วบ้านทั่วเมืองเมื่อคนข่าวผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ หลังศาลฏีกาตัดสินจำคุกเมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา แม้จะเป็นระยะเวลาเพียงปีเดียวที่ต้องถูกจองจำ แต่เชื่อว่าคงเป็นหนึ่งปีที่ยาวนานมากที่สุดของเขาเลยทีเดียว
ถ้ายังจำกันได้ คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ยุติบทบาทการทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2559 หลังเจอกับกระแสสังคมกดดันอย่างหนักกรณีคดีไร่ส้ม นับมาถึงปัจจุบันก็เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วที่คนไทยไม่ได้ยินเสียงและฝีปากอันเป็นเอกลักษณ์ที่คุ้นเคยทุกเช้าตรู่ ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าคนเจนเอ็กซ์และเจนวายที่ตื่นเช้าและเติบโตมากับรายการของคุณสรยุทธ ซึ่งถือเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการโทรทัศน์ ผลักดันให้ธุรกิจของช่อง 3 เติบโตได้อย่างสวยงามจนเป็นที่รู้กันดีว่าค่าโฆษณาของช่องสูงถึงนาทีละ 3 แสนบาทหรืออาจมากกว่านั้น และต้องต่อคิวกันยาวเหยียดเลย
แต่ตอนนี้ดูเหมือนอะไรหลายอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว
พฤติกรรมผู้บริโภค ‘หลังยุคสรยุทธ’ เองก็พลิกรูปโฉมไปไกลมากในระยะเวลาอันสั้น จากความปั่นป่วนของเทคโนโลยีหรือ Digital Disruption ที่ก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อต้นปี 2560 ทำให้ผู้คนเข้าถึงคอนเทนต์ที่ต้องการผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในเวลาเพียงเสี้ยววินาที พัฒนาจากยุค 3G มาสู่ 4G และเป็น 5G ในปัจจุบันที่เราฝันจะเห็นรถยนต์ไร้คนขับวิ่งกันเต็มบ้านเต็มเมืองรวมทั้งการบริโภคสื่อแบบ ‘On Demand’ ที่ไร้ข้อจำกัดด้วย สมรภูมิของธุรกิจสื่อจึงไม่ใช่การแข่งขันระหว่างช่องทีวีอีกต่อไป เพราะกลายเป็นว่าตอนนี้ใคร ๆ ก็สามารถเป็นสื่อได้เอง เกิดผู้มีอิทธิพลทางความคิดเฉพาะกลุ่มหรืออินฟลูเอนเซอร์เต็มไปหมด ทีวีต้องแข่งกับสำนักข่าวออนไลน์ แข่งกับยูทูเบอร์ที่ทำสื่อด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก และยังต้องแข่งกับลูกค้าของตัวเองทั้งหลายที่เคยมาง้อขอออกอากาศ แต่ตอนนี้สามารถสร้างคอนเทนต์ของตัวเองได้ตามใจชอบด้วยซ้ำ
ตาทั้งสองข้างของคนดู มอง อ่าน เพ่งไปที่ใคร คนนั้นคือ “ผู้ชนะ”
ไม่เกี่ยวกับแพลตฟอร์มแล้ว
สำหรับช่อง 3 นั้นอยู่ภายใต้การดำเนินการของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC ซึ่งราคาหุ้นขยับต่ำกว่า 10 บาทต่อหุ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา แตกต่างจากจากช่วง’ยุคทองของทีวี’ ที่ราคาเคยทะยานไปใกล้เคียง 80 บาทต่อหุ้นในเดือนสิงหาคม 2555 แบบหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งช่อง 3 ไม่ใช่แบรนด์เดียวที่เผชิญชะตากรรมที่โหดร้ายจากการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจทีวีดิจิทัลที่พิสูจน์ผ่านกาลเวลาแล้วว่าล้มเหลว รายได้ของสื่อโทรทัศน์แม้จะยังเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของก้อนเค้กเงินโฆษณา แต่ก็หดลงอย่างต่อเนื่องนับจากวันแรกที่ประเทศไทยเริ่มมีทีวีดิจิทัลเมื่อปี 2557 จนตอนนี้ก็มีผู้ประกอบการหลายรายคืนช่อง เลิกกิจการ บ้างก็หันไปทำสื่อออนไลน์ และคาดว่าถ้าทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดทางให้คืนช่องอีกรอบ ก็น่าจะมีอีกหลายสถานีที่ตบเท้าขอคืนอย่างแน่นอน
จากข้อมูลของ Nielsen ประเทศไทย พบว่ารายได้ค่าโฆษณาของสื่อทุกประเภทในไตรมาส 1 ปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 2564) อยูที่ 2.67 หมื่นล้านบาทลดลงจากปีก่อน 4% โดยรายได้โฆษณาของสื่อทีวีเท่ากับ 1.57 หมื่นล้านบาท ลดลง 5% ซึ่งยังถือว่าดีกว่าสื่อดังเดิมอื่นอย่างวิทยุที่ติดลบถึง 22% และสื่อในร้านค้าที่ติดลบ 21% ขณะที่สื่อกลางแจ้ง สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อในโรงหนังก็ติดลบใกล้เคียง 20% เช่นกัน มีเพียงสื่อออนไลน์เท่านั้นที่ยังเติบโตต่อเนื่องได้ที่ 5.7 พันล้านบาทหรือคิดเป็น 20% จากปีก่อน สะท้อนสิ่งที่เป็นอยู่ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลนี้ได้เป็นอย่างดี
“ทีวีเสีย ไม่เดือดร้อนเท่ากับมือถือหาย”
เมื่อมองกลับมาที่งบการเงินของ BEC ที่แสดงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่ามีสินทรัพย์ 9.5 พันล้านบาท มีรายได้ในปี 2563 ที่ 5.9 พันล้านบาท ขาดทุน 214 ล้านบาท ซึ่งดูตัวเลขปีก่อนหน้ายุคโควิด-19 ที่กระทบทุกภาคส่วนแล้ว BEC ก็ไม่ได้มีผลประกอบการที่งดงามนักในช่วงที่ผ่านมา โดยปี 2560 มีกำไรเพียง 61 ล้านบาท และเริ่มขาดทุนในปี 2561 ที่ 330 ล้านบาท และปี 2562 ขาดทุนที่เกือบ 400 ล้านบาทเลยทีเดียว จึงไม่แปลกที่ตอนนี้ช่อง 3 จึงไม่ได้มีเพียง ‘ตระกูลมาลีนนท์’ ที่เป็นใหญ่เพียงอย่างเดียวแบบที่เข้าใจกันมาตลอด เพราะมี ‘ตระกูลจุฬางกูร’ ผู้ขึ้นชื่อเซียนด้านการลงทุนที่เข้ามาถือหุ้นถึง 20% มาเป็นอีกหนึ่งเสาหลักที่ช่วยค้ำยันธุรกิจ
ชัดเจนว่าช่อง 3 ยุคสรยุทธ 1 กับ ยุคสรยุทธ 2 หน้าตาไม่เหมือนกันเลย
และยิ่งเจอกับกรณีล่าสุดที่ขาประจำอย่าง ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ ร้องต่อกสทช. ให้ตรวจสอบกรณีคุณสรยุทธกลับมาทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ อีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่าไม่สมควรอย่างยิ่งที่เขาจะกลับมาทำหน้าที่อยู่หน้าจอโทรทัศน์อีกครั้ง เพราะพิธีกรหรือนักเล่าข่าวต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม โดยมีประวัติที่ไม่ด่างพร้อย โดยยกทั้งรัฐธรรมนูญปี 2560 และข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยมาโจมตี ซึ่งต้องติดตามกันต่อว่าจะมีคนร่วมผสมโรงหรือมีการรับลูกกันหรือไม่
เส้นทางครั้งใหม่ของกรรมกรข่าวชื่อดังคนนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบและต้องแบกความหวังของผู้บริหารช่อง 3 พอสมควร แน่นอนเราคงได้เห็นตัวตนและคอนเทนต์ของเขาในโลกออนไลน์ด้วยเป็นแน่เพื่อให้ครอบคลุมกับทุกแพลตฟอร์มในยุคดิจิทัล เพียงแต่วันนี้สื่อหลายหัวรวมทั้งทีวีดิจิทัลช่องอื่น ๆ ก็มีสรรพกำลังมากขึ้นกว่าเดิมและกล้าชนกับเบอร์ใหญ่ ๆ กันแล้ว ยังไม่นับรวม ‘คนคล้ายสรยุทธ’ ที่โลดแล่นในหน้าจอโทรทัศน์และพร้อมสู้เพื่อรักษาพืนที่ของตัวเองแน่
สัญญาณการรบพุ่งของสมรภูมิสื่อดังขึ้นอีกครั้ง
เพียงแต่ตอนนี้อำนาจอยู่ที่คนดู ไม่ใช่ตัวสื่ออีกต่อไปแล้ว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส