กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขการส่งออกของประเทศไทยเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บอกว่าอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 11 ปี หรือนับจากปี 2553 โดยปกติแล้วเราควรจะดีใจกับเรื่องนี้ แต่ทำไมประชาชนถึงรู้สึกเฉย ๆ และไม่ได้สัมผัสว่าชีวิตดีขึ้นสักเท่าไหร่?
คำตอบง่าย ๆ ก็คือ รายได้จากการส่งออกที่เติบโตเป็นของบริษัทผู้ส่งออกขนาดใหญ่ กว่าจะส่งผ่านมาถึงมือประชาชนผ่านการจัดซื้อจัดจ้าง ลงทุนหรือจ้างงานมันต้องใช้เวลา และยิ่งสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ภาคธุรกิจจะควักเงิน ขยายกำลังการผลิตหรือทำอะไรที่มีความเสี่ยงสูง
อีกปัจจัยที่ตัวเลขการส่งออกพุ่งพรวดไม่ได้ทำให้เราตื่นเต้นนัก ก็เพราะปีฐานที่นำมาคำนวณคือปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเศรษฐกิจไทยหดตัวถึง 6.1% ดังนั้นเเมื่อหยิบตัวเลขปีนี้เทียบกับปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นมุมไหนก็ตามที อย่างไรก็ดูเติบโตขึ้นกว่าปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงป่านนี้ก็ยังสะบักสะบอมกับวิถีชีวิตใหม่ที่รายได้ผู้บริโภคลดลง กำลังซื้อต่ำ กิจกรรมทางเศรษฐกิจติด ๆ ขัด ๆ เราคงหวังกลับมาพึ่งภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวในปีนี้ได้ยาก คงต้องเอาใจช่วยภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวที่ทำงานอยู่ให้นำพาประเทศไปข้างหน้าต่อ
มูลค่าการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2564 เติบโตขึ้น 41.59% เมื่อเทียบกับปีก่อนและเมื่อรวมมูลค่าการส่งออกทั้ง 5 เดือนของปีนี้ พบว่าเติบโต 10.78% ปัจจัยหลักคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นั่นคือลูกค้าต่างประเทศของเราเริ่มกลับมาสั่งซื้อสินค้าเพราะบ้านเมืองของเขาเศรษฐกิจเริ่มเดินหน้าต่อได้จากการควบคุมโรคโควิด-19 และการเร่งกระจายวัคซีนเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน เขาก็เดิน (หรือ Zoom) กลับมาสั่งซื้อของจากเราได้มากกว่าปีก่อนที่มีแต่ความไม่แน่นอน การส่งออกของเราก็เติบโตกลับขึ้นมา
เมื่อดูรายละเอียดของสินค้าส่งออกขายดีของบ้านเรา พบว่าเป็นกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์ น้ำมันสำเร็จรูป ยาง และเม็ดพลาสติก ส่วนใหญ่เป็นการค้าขายกับสหรัฐอเมริกาและยุโรป ขณะที่การส่งออกไปที่อินเดียก็เติบโตถล่มทลายเกือบ 2.5 เท่าซึ่งเป็นปัจจัยจากการสั่งซื้อน้ำมันปาล์มล็อตใหญ่จากประเทศไทย ซึ่งทำราคาได้เปรียบคู่แข่งอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าการส่งออกของไทยปีนี้น่าจะขยายตัวที่ 9% โดยช่วงครึ่งปีหลัง ตัวเลขการส่งออกในบางกลุ่มประเทศอาจไม่ได้ร้อนแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมาแล้ว เนื่องจากผลจากอุปสงค์ที่อัดอั้นหรือ Pent-up demand จะเริ่มลดลง การส่งออกทองคำน่าจะชะลอตัวลงและทำให้การขยายตัวกลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ
ยังเร็วเกินไปที่เราจะดีใจกับตัวเลขการส่งออกที่สูงเป็นประวัติการณ์ เพราะเป็นภาวะตลาดฟื้นตัวเหมือนกันทั่วโลก เมื่อดูตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคมของเวียดนามที่เติบโต 36.6% ขณะที่การส่งออกของมาเลเซียโต 47.3% การส่งออกของจีนโต 27.9% ส่วนเกาหลีใต้ก็เติบโต 45.6% มูลค่าการส่งออกยังไม่ได้กลับมาแข็งแรงเหมือนยุคก่อนเกิดโควิด-19 แต่อย่างใดและสิ่งที่น่าคิดต่อคือ ประมาณการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ปีนี้ดีดตัวค่อนข้างแรง แต่ของเศรษฐกิจไทยตอนนี้ถูกปรับลดลงมาเรื่อย ๆ จนต่ำกว่า 2% แล้ว สาเหตุสำคัญคือการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 และการกระจายวัคซีนที่ไม่เข้าเป้า ซึ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง
เมื่อหันมาดูโครงสร้างของสินค้าส่งออก ก็ยังเป็นสินค้ากลุ่มเดิม ไม่ได้มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ที่รองรับกับโลกในอนาคตนัก เมื่อเทียบกับเวียดนามที่มูลค่าสินค้าส่งออกส่วนใหญ่มาจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำให้แรงงานและผู้ประกอบการของเวียดนามเข้าถึง คุ้นชินกับเทคโนโลยีใหม่ หรือเกาหลีใต้ที่ตอนนี้มีแต้มต่อสำคัญเรื่องการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่กำลังขาดแคลนอย่างหนักทั่วโลก ขณะเดียวกันสิ่งที่ท้าทายอย่างมากสำหรับผู้ส่งออกไทยคือ ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ มีของขายแต่ไม่มีตู้ใส่ของออกไปขาย ก็ขายไม่ได้หรือขายได้ล่าช้ากว่าคนอื่น ต้นทุนการขนส่งก็สูงกว่าด้วย
นี่คือเนื้อในของการส่งออกของไทยที่เราต้องตามดูต่อ การรุกตลาดโลกต้องเร่งเครื่องเต็มกำลังพอ ๆ กับการต่อสู้กับปัญหาโควิด-19 ที่ต้องจัดการให้อยู่หมัด ตอนนี้ยังห่างไกลจากเวลาที่เราจะเฉลิมฉลองอะไรทั้งนั้น สิ่งที่ทำได้คือ ทำสิ่งที่ควรทำ และเดินในทางที่ควรจะเดินนั่นเอง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส