สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ประกาศปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากมาลงอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งการปรับลดวงเงินคุ้มครองดังกล่าวเป็นไปตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ที่มีวัตถุประสงค์ในการรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและคุ้มครองผู้ฝากเงินรายย่อย ไม่ใช่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID 19 อย่างที่หลายคนกังวล
แล้วการปรับลดวงเงินคุ้มครองครั้งนี้ ประชาชนผู้ฝากเงินอย่างเราต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง? วันนี้แบไต๋ให้รู้เลย!
สถาบันคุ้มครองเงินฝากคือใคร?
สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) มีสถานะเป็นหน่วยงานรัฐ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ทำหน้าที่ในการคุ้มครองเงินฝากของผู้ฝากเงิน ในกรณีที่สถาบันการเงินล้มละลาย ปิดกิจการ หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ทาง สคฝ. จะจ่ายคืนเงินฝากให้เราภายใน 30 วัน
ใครบ้างได้รับความคุ้มครอง?
ผู้ฝากที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลจะได้รับความคุ้มครองทันที เมื่อเปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก โดยไม่ต้องดำเนินการใด ๆ และไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง
ความคุ้มครองเงินฝากจะมีลักษณะ 1 รายชื่อผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน โดยนำเงินฝาก (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) ของผู้ฝากแต่ละรายในทุกสาขา และทุกบัญชีของสถาบันการเงินแห่งนั้นมาคำนวณรวมกัน
กรณีชาวต่างชาติที่เปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก จะได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับผู้ฝากที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หากเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศที่เป็นเงินสกุลบาท ยกเว้นบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ
ผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ปัจจุบันมี 5 ประเภท ได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน, เงินฝากออมทรัพย์, เงินฝากประจำ, บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน ส่วนสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ปัจจุบันมีทั้งหมด 34 แห่ง (ข้อมูล ณ กรกฎาคม 2564) ได้แก่
ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (18 แห่ง)
- ธนาคารกรุงเทพ
- ธนาคารกรุงไทย
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
- ธนาคารกสิกรไทย
- ธนาคารทหารไทยธนชาต
- ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย
- ธนาคารไทยพาณิชย์
- ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)
- ธนาคารยูโอบี จำกัด
- ธนาคารทิสโก้ จำกัด
- ธนาคารเกียรตินาคินภัทร
- ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
- ธนาคารไอซีบีซี (ไทย)
- ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย
- ธนาคารเมกะ สากลพาณิชย์
- ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย)
- ธนาคารเอเอ็นแซด (ไทย)
- ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ (ไทย)
สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ (11 แห่ง)
- ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส
- ธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น
- ธนาคารซิตี้แบงก์
- ธนาคารอาร์ เอช บี
- ธนาคารแห่งอเมริกา เนชั่นแนล แอสโซซิเอชั่น
- ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น
- ธนาคารดอยซ์แบงก์
- ธนาคารมิซูโฮ
- ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์
- ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
- ธนาคารอินเดียน โอเวอร์ซีส์
บริษัทเงินทุน (2 แห่ง)
- บง.ศรีสวัสดิ์
- บง.แอ็ดวานซ์
บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (3 แห่ง)
- บค.เอสเบ
- บค.เวิลด์
- บค.แคปปิตอล ลิ้งค์
จะได้เงินฝากคืนเท่าไร? แล้วเงินจ่ายคืนมาจากไหน?
ปัจจุบัน วงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 5 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน แต่ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป จะลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ดังนั้น เมื่อสถาบันการเงินล้มละลาย ปิดกิจการ หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ทาง สคฝ. จะจ่ายคืนเงินฝากด้วยเงินของ ‘กองทุนคุ้มครองผู้ฝาก’ ที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งเป็นสมาชิกและส่งเงินสมทบเป็นประจำในอัตรา 0.01% ของยอดเงินฝาก ไม่ใช่การนำเงินภาษีของประชาชนมาจ่ายคืนอย่างที่หลายคนกังวล
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า แม้จะลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน แต่ก็ยังครอบคลุมจำนวนบัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์สูงถึง 98.0% หรือครอบคลุมผู้ฝากเงิน 82.1 ล้านราย สอดคล้องกับหลักการของการคุ้มครองเงินฝากที่เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของประชาชน
โควิดระบาดหนัก-แบงก์ใกล้ล้ม ต้องรีบปรับลดวงเงินคุ้มครอง?
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ชี้แจงเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ว่า การปรับลดวงเงินดังกล่าว เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ที่ทยอยปรับลดวงเงินจากการคุ้มครองเต็มจำนวนเป็นขั้นบันไดลงมา เพื่อให้ประชาชนได้มีเวลาปรับตัว ทั้งนี้ ปัจจุบัน ผู้ฝากแต่ละรายจะได้รับการคุ้มครองเงินฝากวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทสำหรับการฝากเงินที่สถาบันการเงินแต่ละแห่ง และนับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป การคุ้มครองดังกล่าว จะลดลงเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ออกมาให้ความมั่นใจว่า มีการกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด โดยสถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็ง สะท้อนจากระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ระดับร้อยละ 20 ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ซึ่งสามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID 19 ได้
อนึ่ง การปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2552
ผู้ฝากเงินต้องเตรียมตัวอย่างไร?
เมื่อวงเงินคุ้มครองเงินฝากลดมาลงอยู่ที่ 1 ล้านบาท หากเรามีเงินฝากในบัญชีไม่ถึงก็สบายใจได้ คุณจะได้รับความคุ้มครองแน่นอน หากมีเงื่อนไขครบถ้วน ส่วนผู้ที่มีเงินฝากในบัญชีเกิน 1 ล้านบาท อาจนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ แทน หรือจะไม่ดำเนินการใด ๆ ก็ได้เช่นกัน หากมีความมั่นใจในสถาบันการเงิน
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย, สถาบันการคุ้มครองเงินฝาก, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ภาพปก : mrsiraphol – www.freepik.com
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส