วันนี้ใคร ๆ ก็พูดถึงแต่รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี (Electric Vehicle: EV) กันทั้งนั้น ไม่เพียงแต่เป็นแนวทางการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนที่ถูกกดดันมากขึ้นเรื่อย ๆ จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวเปลี่ยนเกมสำคัญของหลายประเทศที่ปักหลักเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนมานานรวมถึงประเทศไทย ถ้าปรับกระบวนธุรกิจช้าไปก็เป็นไปได้ที่จะตกม้าตายกลายเป็นเสียเปรียบประเทศอื่นในภูมิภาคทันที
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยจะเติบโตได้มากกว่า 70% ในปี 2564 และไม่เกินหนึ่งทศวรรษยอดขายของอีวีจะขยับมาเป็น 50% ของยอดขายรถทั้งหมด ซึ่งในที่นี้นับรวมทั้งรถยนต์ไฮบริด รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าล้วน ๆ ถือเป็นแนวโน้มสำคัญที่ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ยังเห็นโอกาสและเร่งเครื่องการผลิตอีวีให้มากขึ้น แม้กระทั่งรถหรูตลาดบนอย่างเมอร์เซเดส-เบนซ์ยังประกาศเป้าหมายสำคัญโดยจะเปลี่ยนเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบเพื่อออกจำหน่ายตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ส่วนในปีหน้านี้จะมีรถเบนซ์ที่เป็นรถใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ไฟฟ้าหรือ BEV ครบทุกเซกเมนต์ด้วย ตอกย้ำว่าอีวีคือเค้กชิ้นสำคัญที่ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ระดับไหนต่างก็ให้ความสนใจ
ปัจจัยกดดันคงหนีไม่พ้นความตกลงปารีสและอีกหลายเวทีที่เรียกร้องให้ประชาคมโลกลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลลงเหลือครึ่งเดียวภายในทศวรรษข้างหน้า แม้ผู้เชี่ยวชาญจะมองว่าเป็นไปได้ยาก แต่อย่างน้อยก็เป็นตัวเร่งสำคัญให้เกิดการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าแบบก้าวกระโดด เพราะนี่คือวาระสำคัญของโลกที่แม้แต่ประเทศไทยก็ประกาศเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายใน 50 ปีนับจากนี้ ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญคือการก้าวข้ามจากเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือ ICE มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้านั่นเอง
เรื่องที่ท้าทายของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าคือราคาของรถยังอยู่ในระดับสูง ส่วนมากจะเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาทเป็นต้นไป สาเหตุสำคัญคือต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมที่ยังไม่สามารถเดินหน้าผลิตได้จนถึงระดับประหยัดต่อขนาด ต้นทุนแบตเตอรี่คิดเป็น 30% ต้นทุนทีวีทั้งคัน จึงเป็นเรื่องท้าทายที่ผู้ผลิตรถทั่วโลกรวมทั่วบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆจะเร่งวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ออกมาให้ราคาต่ำที่สุด ผลิตได้มากที่สุด และมีประสิทธิภาพชาร์จไวที่สุดด้วย นอกจากนี้สถานีบริการชาร์จไฟที่ครอบคลุมก็ยังเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคกล้าตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้อีวี ซึ่งขณะนี้บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของชาติอย่าง ปตท. ก็พยายามเปลี่ยนรูปโฉมปั๊มของตัวเองให้รองรับอีวีด้วย
อีกปัจจัยสำคัญคือกฏเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนมาผลิตอีวีของผู้ประกอบการ ซึ่งเรายังเก็บภาษีแบตเตอรี่นำเข้า ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์แบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นและทำให้บรรยากาศการแข่งขันเกิดขึ้นลำบาก เรื่องนี้หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยนั้นถูกพัฒนาขึ้นมาจากเครือข่ายธุรกิจที่เชื่อมโยงกับค่ายรถยักษ์ใหญ่จากประเทศญี่ปุ่นซึ่งมาสร้างฐานการผลิตเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนและทำให้ตำนาน ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ ยังเป็นที่พูดถึงจนทุกวันนี้ แน่นอนว่าท่าทีของบริษัทเหล่านี้อาจจะไม่ได้กระตือรือร้นต่ออีวีมากเท่ากับแบรนด์จากยุโรปหรือจีน การผลักดันเรื่องนี้โดยที่ลูกค้ารายใหญ่ยังไม่รีบร้อนขยับตัวจึงไม่ง่าย
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ตลาดรถยนต์ไทยมีผู้เล่นรายใหม่โดยเฉพาะแบรนด์จากจีนเพิ่มมากขึ้นและทำตลาดได้อย่างน่าสนใจ ทั้งแบรนด์ MG โดยเครือธุรกิจใหญ่ซีพี ที่รุกตลาดอย่างหนัก เร่งเครื่องผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่จับต้องง่ายขึ้นและเหมาะกับการใช้งานของคนไทยอย่างรถเอสยูวีอย่างเต็มรูปแบบ และล่าสุดกับการลั่นกองรบของ Great Wall Motors ที่เน้นทำตลาดอีวี เปิดตัวราคารถในราคาไม่ถึง 1 ล้านบาท ถือเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญ และเชื่อว่าไม่นานจากนี้จะได้เห็นรถไฟฟ้าราคาหลักแสน ดาวน์ง่าย ผ่อนสบายวิ่งกันตามท้องถนนมากขึ้น
ถึงตอนนั้นทั้งฮอนด้าและโตโยต้าจะตั้งการ์ด ครองใจลูกค้าได้อยู่หรือไม่ คงต้องติดตาม
ถ้ากลับมามองศักยภาพธุรกิจที่พอจะดึงลากเศรษฐกิจไปข้างหน้าได้ ก็คงเป็นธุรกิจอีวีนี่เอง เพราะเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่ครบพร้อม ประสบการณ์ของผู้ประกอบการ แรงงานในอุตสาหกรรมและการส่งเสริมการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับภาคส่วนนี้ ขณะที่ภาคการบริการและท่องเที่ยวของไทยยังจะซึมยาวต่อไปอีกพักใหญ่จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แน่นอนว่าหนึ่งในธุรกิจอนาคตอย่างการบิน หรือกระทั่งการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่เขตพัฒนาภาคตะวันออกหรืออีอีซี คงยังจะไม่ได้ขึ้นแท่นเป็นพระเอกในเร็ว ๆ นี้แน่ จึงไม่แปลกที่วันนี้ทุกฝ่ายจะพากันพูดแต่เรื่องอีวีกันอย่างเอิกเริก
แต่เรื่องนี้ช้าไม่ได้ เพราะ Vin Group กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ 1 ใน 5 ของเวียดนามเองก็กำลังโลดแล่นอยู่ในเวทีโลก ทั้งการจับมือกับบริษัทเทคโนโลยีของอิสราเอลพัฒนาแบตเตอรี่อีวีที่ชาร์จเพียง 5 นาที วิ่งได้ไกลมากกว่า 100 กิโลเมตร หรือการจับมือกับยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถในจีนเพื่อใช้ประโยชน์จากการใช้ห่วงโซ่อุปทานร่วมกัน ถือเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลและผู้ประกอบการไทยวางใจไม่ได้ ไม่นานจากนี้บริษัทลูกอย่าง VinFast เตรียมจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่สหรัฐอเมริกาและได้ประกาศเป้าหมายขายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดอเมริกาและยุโรปแล้วด้วย นี่จึงไม่ใช่เวลาที่ประเทศไทยจะอยู่เฉยหรือกระทั่งเดินต่อด้วยความเร็วเท่าเดิมได้อีกต่อไป
กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ ป่านนั้นคงไม่เหลืออะไรกินแล้ว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส