ช่วงสุดสัปดาห์นี้เกิดกรณีผู้มีบัญชีธนาคารหลายราย ถูกดูดเงินออกไปจากบัญชี โดยลักษณะที่พบคือถูกดูดออกไปครั้งละน้อย ๆ (ไม่ถึง 40 บาท) แต่เกิดขึ้นถี่ ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการแจ้งเตือนเงินไหลออกจากบัญชีของธนาคาร ซึ่งในคืนวันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคมก็มีรายงานว่าสมาคมธนาคารไทยกำลังเร่งประชุมด่วน ตัวแทนจากธนาคารต่าง ๆ และธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังหาสาเหตุ และทางออกร่วมกัน
ซึ่งล่าสุดมีแถลงจากสมาคมธนาคารไทยและธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วดังนี้
ชี้แจงกรณีการตัดเงินที่ผิดปกติผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของลูกค้าจำนวนมาก
ตามที่ปรากฏข่าวพบลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตและบัตรเดบิตจำนวนมากประสบปัญหาการทำรายการชำระเงินโดยที่ไม่ได้ทำธุรกรรมด้วยตนเอง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้รับทราบปัญหาและได้ตรวจสอบสถานการณ์ดังกล่าว โดยเบื้องต้นพบว่า มิได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากธนาคาร แต่เป็นรายการที่เกิดจากการทำธุรกรรมชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และไม่ใช่แอปดูดเงินตามที่ปรากฏเป็นข่าว
ขณะนี้ธนาคารเจ้าของบัตรได้ดำเนินการระงับการใช้บัตรของลูกค้าที่มีรายการผิดปกติ และติดต่อลูกค้า รวมทั้งอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบร้านค้าที่มีธุรกรรมที่ผิดปกติเหล่านี้
นอกจากนี้ ลูกค้าที่ตรวจสอบพบความผิดปกติของรายการธุรกรรมด้วยตนเอง สามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์หรือสาขาของธนาคารผู้ออกบัตรเพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันการทำธุรกรรมในทันที โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเร่งคืนเงินให้กับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายตามขั้นตอนของธนาคารโดยเร็วต่อไป
ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า โดยธนาคารพาณิชย์มีระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและมีการตรวจสอบการทำธุรกรรมที่ผิดปกติอย่างต่อเนื่อง เมื่อพบรายการที่ผิดปกติ ธนาคารจะแจ้งลูกค้าเพื่อตรวจสอบและยืนยันรายการธุรกรรม และพร้อมจะดูแลลูกค้าด้วยความรับผิดชอบเสมอ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สมาคมธนาคารไทย
17 ตุลาคม 2564
ลักษณะของการถูกดูดเงินออกจากบัญชีนั้นมีด้วยการหลายรูปแบบ เช่นขึ้นว่า “ชำระสินค้าผ่าน EDC” ในบันทึกธุรกรรมของธนาคาร กรณีแบบนี้น่าจะเป็นข้อมูลส่วนตัวเช่นเลขที่บัตร เลขหลังบัตรหลุดออกไป จึงสามารถนำบัตรไปใช้จ่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งปัญหานี้น่ากลัวสำหรับบัตรเดบิต เพราะเป็นการหักเงินจากบัญชีออกไปโดยตรง ถ้าเป็นบัตรเครดิตยังสามารถแจ้งเรื่องเพื่อยกเลิกธุรกรรมได้ง่ายกว่า
แต่สำหรับผู้ถือบัตรเครดิตก็ยังมีกรณีถูกจู่โจมผ่านเฟซบุ๊ก อาจจะมีเพื่อนโดนแฮกหรือเราโดนแฮก facebook เสียเอง แล้วถูกนำบัญชีเข้าไปอยู่ใน “บัญชีโฆษณา” ในระบบเฟซบุ๊ก ซึ่งถ้าเห็นแจ้งเตือนในลักษณะนี้แล้วไม่เข้าไปกดยกเลิก ก็จะถูกดูดเงินในบัตรเครดิตที่ผูกกับเฟซบุ๊กเพื่อไปจ่ายค่าโฆษณาแทน
รู้แบบนี้แล้วรีบไปดูรายการเดินบัญชีธนาคารย้อนหลังกัน ว่ามีการใช้จ่ายที่แปลกๆ หรือไม่ และถ้าเป็นไปได้ก็เปิดการแจ้งเตือนความเปลี่ยนแปลงของบัญชีธนาคารผ่านแอปไว้ครับ (แต่ก็ไม่ใช่ทุกธนาคารที่ให้บริการนี้ฟรีนะ วิธีเปิดแจ้งเตือนสำหรับกสิกรไทย )
ถ้าโดนหักเงินไปแล้วต้องทำอย่างไร
ในระหว่างที่เรารอมาตรการร่วมจากสมาคมธนาคารไทย ตอนนี้ทำได้แค่แจ้งเรื่องไปที่ธนาคารเพื่อให้ปรับปรุงบัญชีครับ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาหลายวัน แต่คาดว่าหลังจากมีมาตรการเร่งด่วนจากสมาคมธนาคารไทยออกมาแล้ว จะสามารถจัดการปัญหานี้ได้เร็วขึ้น
พิสูจน์อักษร ; สุชยา เกษจำรัส