ความร้อนแรงของมูลค่าเหรียญดิจิทัล (Digital Token) คือสิ่งที่ดึงดูดนักลงทุนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ให้เข้ามาในตลาดสินทรัพย์คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ซึ่งการเข้ามาของหลาย ๆ คนก็มาแบบไม่มีความรู้ หรือยังศึกษาไม่มากพอ อาจทำให้เจ็บตัวจากภาวะ “ฟองสบู่แตก” ซึ่งหมายถึงเหรียญดิจิทัลที่ไม่มีมูลค่าที่แท้จริง แต่ถูกปั่นราคาเพื่อการเก็งกำไรของคนบางกลุ่มเท่านั้น แล้วเราจะหลีกหนีภาวะนี้ได้อย่างไร เราขอแนะนำให้ทุกคนทำความเข้าใจกับ Tokenomics ของเหรียญนั้น ๆ ก่อน
Tokenomics คืออะไร
Tokenomics หรือเศรษฐศาสตร์ของเหรียญดิจิทัล คือกลไกการควบคุมจำนวนเหรียญดิจิทัลในระบบนิเวศ (Ecosystem) ให้มีความสมดุลของอุปสงค์ (ความต้องการซื้อ หรือ Demand) และอุปทาน (ความต้องการขาย หรือ Supply) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเฟ้อจากการขุดเหรียญ (Minted) ขึ้นมามากเกินไป โดยไม่มีการนำเหรียญดิจิทัลไปใช้งานจริง (Burn)
ดังนั้น Tokenomics ที่ดีจะทำให้เหรียญดิจิทัลมีมูลค่าขึ้นมาจากการนำไปใช้งาน ไม่ใช่ผันแปรไปตามความต้องการของตลาดที่ต้องการปั่นราคาเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น ๆ
ทำไม Tokenomics จึงสำคัญ
ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดเหรียญดิจิทัล เนื่องจากการเติบโตของ GameFi (Game Decentralized Finance) หรือเกมที่สามารถขุดเหรียญดิจิทัลขึ้นมาได้ผ่านการเล่นเกม (เช่น เกมการ์ด, เกมทำฟาร์ม ฯลฯ) โดยในช่วงแรกนั้น ผู้เล่นจำเป็นต้องซื้อเหรียญดิจิทัลนั้น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นไอเท็ม หรือตัวละครเพื่อใช้งานภายในเกม จึงจะขุดเหรียญดิจิทัลนั้น ๆ ขึ้นมาได้ ดังนั้นในช่วงแรกมูลค่าของเหรียญดิจิทัลนั้น ๆ จึงปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมีความต้องการมาก
เมื่อระยะเวลาผ่านไป ผู้เล่นขุดเหรียญดิจิทัลได้จำนวนหนึ่งก็มักนำไปขายทำกำไร หากเกมนั้น ๆ ไม่มีรูปแบบการนำเหรียญดิจิทัลไปใช้งานที่ครอบคลุมมากพอ เช่น การออกตัวละครใหม่ ๆ, การซื้อที่ดินเพื่อขยายพื้นที่ฟาร์ม ฯลฯ มูลค่าของเหรียญดิจิทัลจะตกลง เนื่องจากมีจำนวนเหรียญมากเกินความต้องการ เราจึงได้เห็นเหรียญดิจิทัลบางเหรียญที่เกิดภาวะฟองสบู่แตกนั่นเอง
ดังนั้น Tokenomics ของเหรียญดิจิทัลจึงสำคัญมาก ผู้เล่น GameFi และนักลงทุนควรศึกษา Whitepaper ของเหรียญดิจิทัลอย่างละเอียด โดย Tokenomics ที่แข็งแรงนั้น เราควรพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบคือ
- เหรียญนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร
- ใครเป็นผู้ออกเหรียญ มีความน่าเชื่อถือ ความมั่นคง และความยั่งยืนเป็นอย่างไร
- เหตุผลในการออกเหรียญ เช่น เหรียญที่ใช้งานภายในเกม (เพื่อความสนุกสนาน), เหรียญที่ใช้แลกเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้ ฯลฯ
- กลไกในการสร้างเหรียญเป็นอย่างไร (Minted)
- เช่น การเล่นเกมเพื่อให้เหรียญมา, กิจกรรม Airdrop จากแบรนด์ต่าง ๆ, การเทรดจากกระดานซื้อขาย ฯลฯ
- ถ้าได้มาง่ายเกินไป ใคร ๆ ก็ครอบครองเหรียญได้ มูลค่าของเหรียญอาจตกลง หากไม่มีรูปแบบการนำไปใช้งานที่ดีพอ
- เหรียญนี้ถูกนำใช้งานอย่างไร (Burn)
- เช่น นำไปแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการ, นำไปซื้อไอเท็มภายในเกมเพื่ออัปเลเวล หรือเพิ่มความสามารถของตัวละคร
- รูปแบบการนำไปใช้งานควรสมดุลกับกลไกการสร้างเหรียญ เพื่อให้อุปสงค์และอุปทานสมดุลกัน มูลค่าของเหรียญจึงคงที่ ไม่แพงหรือถูกจนเกินไป เกิดความยั่งยืนมากขึ้น และหากมี Tokenomics ที่แข็งแรงพอ เหรียญจะไม่เกิดภาวะฟองสบู่แตก
- จำนวนเหรียญทั้งหมดในตอนนี้มีเท่าไร และในอนาคตจะมีเท่าไร
- เช่นเดียวกับ Physical Money (เงินตราที่จับต้องได้) เหรียญดิจิทัลควรถูกจำกัดปริมาณเพื่อไม่ให้เกิดการเฟ้อมากเกินไปจนราคาตกลง หรือในกรณีที่มีความต้องการสูงมาก ๆ ควรสามารถผลิตเพิ่มได้ โดยมีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะเพิ่มตามเหตุผลอะไร เช่น ปริมาณความต้องการใช้, อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) ฯลฯ เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาของเหรียญพุ่งสูงจนเกินไป
ทั้ง 4 องค์ประกอบนี้ไม่ใช่คำแนะนำในการลงทุน แต่เป็นข้อมูลเพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเหรียญดิจิทัลเบื้องต้นเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่าน Whitepaper ให้เข้าใจ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส