สะเทือนไปทั้งวงการสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อกรมสรรพากรประกาศให้ผู้ที่มีเงินได้จากการลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ต้องเสียภาษีให้ถูกต้อง หลังปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ตลาดการลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีของไทยคึกคักเป็นอย่างมาก และก่อให้เกิดนักลงทุนหน้าใหม่หลายราย ซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าเงินได้จากการลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีจะต้องนำมาเสียภาษีด้วย แล้วรายได้จากคริปโทเคอร์เรนซีต้องเสียภาษียังไง? วันนี้แบไต๋ให้รู้เลย
“ภาษีคริปโท” ไม่ใช่เรื่องใหม่
การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล และ “ภาษีคริปโท” ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะมีกฎหมายบังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 แล้วคือ พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลและการมอบอำนาจการกำกับดูแลให้กับ ก.ล.ต. ในขณะที่กฎหมายอีกฉบับคือ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 เป็นการแก้ไขและเพิ่มเติมกฎหมายที่ระบุให้ “รายได้” จากคริปโทเคอร์เรนซี และ “กำไร” จากการขายคริปโทเคอร์เรนซีจะต้องนำมาคำนวณเพื่อยื่นภาษีด้วย
กำไรจากคริปโทเคอร์เรนซีคำนวณยังไง?
เมื่อมีกฎหมายบังคับใช้ จึงเป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่ต้องประเมินและคิดคำนวณเงินได้ของตนเองเพื่อนำมายื่นภาษี โดยจากการชี้แจงของกรมสรรพากร ผู้ที่มีเงินได้จากการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี ไม่ว่าจะเป็นการถือครอง, การได้รับปันผล ดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนใด ๆ จากคริปโทเคอร์เรนซี จะต้องนำ “กำไร” ที่ได้จากแต่ละรายธุรกรรม (Transaction) มายื่นเป็นเงินได้ในมาตรา 40(4)
ยกตัวอย่าง ซื้อเหรียญดิจิทัลมา 100,000 บาท ขายไปในราคา 150,000 บาท เกิดกำไร 50,000 บาท กำไรในส่วนนี้ถือเป็นเงินได้ที่ต้องไปนำยื่นภาษี ต่อมานำเหรียญดิจิทัลจำนวน 150,000 บาทนี้ ไปขายต่อในราคา 100,000 บาท ส่วนต่างที่เกิดการขาดทุนนี้ไม่สามารถนำมาหักลบกับกำไรก่อนหน้าได้ เนื่องจากเป็นคนละรายธุรกรรมนั่นเอง
เงินได้จากการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีอีกประเภทที่ต้องนำมายื่นภาษีคือ ผลตอบแทนจากการ Staking และผลตอบแทนจากการถือครองเหรียญเอาไว้ในระยะเวลาที่กำหนด (การล็อกเหรียญ) เมื่อมีการโอนผลตอบแทนมาให้ถือว่าธุรกรรมได้เกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องนำผลตอบแทนดังกล่าวมาคิดคำนวณเพื่อยื่นภาษีด้วย
“กำไร” ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ต้องจ่ายภาษี
หลายคนเข้าใจว่า “กำไร” ที่ได้จากแต่ละรายธุรกรรมและต้องนำมาคำนวณเพื่อยื่นภาษีนั้น คือ “เงิน” ที่ถูกโอนออกจากกระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) มาสู่บัญชีเงินฝากของเรา สรุปคือเป็นความคิดที่ผิด เพราะการคำนวณเพื่อยื่นภาษีนั้นคิดเป็น “รายธุรกรรม” แม้ว่าเงินจะยังอยู่ใน Exchange แต่ธุรกรรมได้เกิดขึ้นแล้วก็ต้องนำ “กำไร” ที่ได้มาคำนวณเพื่อยื่นภาษี
“ภาษีคริปโท” ต้องเสียในอัตรา 15% จริงหรือไม่?
อ้างอิงจากกฎหมายที่กล่าวถึงข้างต้น “ภาษีคริปโท” ต้องเสียในอัตราเดียวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่คิดตามขั้นบันได ส่วนตัวเลข 15% ที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ นั้นคืออัตราของ “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” ซึ่งเป็นเงินภาษีที่ผู้จ่ายเงินจะหักออกจากเงินที่จะจ่ายให้กับผู้รับ โดยผู้จ่ายเงินมีหน้าที่นำเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย นำส่งให้กับกรมสรรพากร ส่วนผู้รับเงินก็จะได้รับหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย จากผู้จ่าย เพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นแบบภาษีกับกรมสรรพากรว่าได้ชำระภาษีไว้ในรูปแบบของภาษีหัก ณ ที่จ่าย กรณีที่เงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี เราสามารถยื่นขอเงินภาษีส่วนนี้คืนได้
กลับมาในโลกของคริปโทเคอร์เรนซี ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ ผู้จ่ายเงิน = Exchange และ ผู้รับเงิน = นักลงทุน เมื่อเกิดการซื้อ-ขายคริปโทเคอร์เรนซี ทาง Exchange จะหักเงินออกไป 15% ก่อนโอนให้กับนักลงทุน และนักลงทุนจะต้องคิดคำนวณกำไรจากธุรกรรมครั้งนี้ (ซึ่งต้องคิดจากจำนวนเงินเต็มก่อนถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย) เพื่อยื่นภาษีเงินได้อีกครั้งหนึ่ง
ทำไมหลายคนไม่พอใจ “ภาษีคริปโท”
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลและ “ภาษีคริปโท” ถูกบังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่สินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทย ปัจจุบัน สินทรัพย์ดิจิทัลและการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น เมื่อกฎหมายไม่ครอบคลุมความหลากหลายเหล่านี้ นักลงทุนจึงเกิดความสับสน เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะถูกคิดอย่างไรเมื่อเกิดการทำธุรกรรมใน Exchange ของต่างประเทศ, การขุดคริปโทเคอร์เรนซี (Mining) จะหักลบต้นทุนอย่างไร รวมถึงภาระในการคิดคำนวณกำไรตามรายธุรกรรมด้วยตนเองอาจเกิดข้อผิดพลาด ทำให้เมื่อยื่นภาษีขาดหรือต่ำไป อาจถูกเรียกตรวจสอบในภายหลังและต้องเสียค่าปรับ ซึ่งจุดนี้เองทำให้นักลงทุนหลายคนเกิดความไม่พอใจขึ้น
จากการชี้แจงของกรมสรรพากรได้ทิ้งท้ายไว้ว่า จะมีการพูดคุยกับ Exchange รวมถึงการทำประชาพิจารณ์ (Public Hearings) เพื่อปรับปรุงกฎหมายและหาแนวทางร่วมกันในการยื่นภาษีอย่างถูกต้องและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยกรมสรรพากรตั้งเป้าดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส