“ช้อปดีมีคืน” เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 65 เพื่อให้ผู้มีเงินได้ฯ สามารถนำค่าสินค้าและบริการตามที่จ่ายจริงสูงสุด 30,000 บาท ไปหักเป็นรายการลดหย่อนในปีภาษี 2565 (ซึ่งจะมีการยื่นและชำระภาษีช่วงต้นปี 2566) โดยผู้ที่ต้องการใช้สิทธิตามมาตรการจะต้องขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปจากร้านค้าเพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงื่อนไขการใช้สิทธิ รายการสินค้าและบริการของช้อปดีมีคืนมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
“ช้อปดีมีคืน” ใครใช้สิทธิได้บ้าง
- ผู้มีเงินได้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่ต้องลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ)
- นิติบุคคลและผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่สามารถใช้สิทธิมาตรการนี้ได้
- ผู้มีเงินได้ต่ำกว่า 150,000 บาทต่อปี จะได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิมาตรการนี้
ระยะเวลาการใช้สิทธิ
- เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 (รวม 46 วัน)
สินค้าและบริการที่เข้าร่วม “ช้อปดีมีคืน”
- ค่าสินค้าและค่าการใช้บริการจากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในราชอาณาจักร
- ค่าหนังสือและ e book
- ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
สินค้าและบริการที่เข้าร่วมมาตรการช้อปดีมีคืนไม่ได้จำกัดว่าต้องซื้อจากร้านค้าที่มีหน้าร้านเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เราสามารถซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าออนไลน์ได้ หากเป็นร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในราชอาณาจักร โดยผู้ที่ต้องการใช้สิทธิตามมาตรการควรสอบถามร้านค้าก่อนสั่งซื้อ เพราะต้องมีกรอกข้อมูลส่วนบุคคลในการออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปจากร้านค้าด้วย
สินค้าและบริการที่ไม่เข้าร่วม
- ค่าสุรา เบียร์ ไวน์ และยาสูบ
- ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการจัดนำเที่ยว
- ค่าที่พักในโรงแรม
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
- ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
“ช้อปดีมีคืน” ลดหย่อนภาษีได้เท่าไร
หลายคนเข้าใจว่ามาตรการช้อปดีมีคืน “ยิ่งซื้อเยอะ ยิ่งได้ลดหย่อนเยอะ” ถือเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องซะทีเดียว เพราะมาตรการนี้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ซื้อสินค้าและบริการ, เงินได้สุทธิ และอัตราภาษีที่ต้องจ่ายในปีภาษี 2565 ของแต่ละคนด้วย กล่าวคือหากทุกคนใช้สิทธิเต็มเพดาน 30,000 บาทเท่ากัน ผู้ที่ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้มากกว่านั่นเอง
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี | สิทธิเงินคืนภาษีสูงสุด |
---|---|---|
ไม่เกิน 150,000 บาท | ยกเว้น | 0 บาท |
150,001-300,000 บาท | 5% | 1,500 บาท |
300,001-500,000 บาท | 10% | 3,000 บาท |
500,001-750,000 บาท | 15% | 4,500 บาท |
750,001-1,000,000 บาท | 20% | 6,000 บาท |
1,000,001-2,000,000 บาท | 25% | 7,500 บาท |
2,000,001-5,000,000 บาท | 30% | 9,000 บาท |
ตั้งแต่ 5,000,001 บาทขึ้นไป | 35% | 10,500 บาทหรือมากกว่า |
จากข้อมูลในตารางแสดงให้เห็นว่าการซื้อสินค้าและบริการเต็มเพดาน อาจ “ไม่คุ้ม” สำหรับผู้ที่มีเงินได้สุทธิไม่ถึงอัตราภาษีที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เต็มที่ ดังนั้น ก่อนเข้าร่วมมาตรการช้อปดีมีคืน เราควรคำนวณคร่าว ๆ ก่อนว่าในปีภาษี 2565 นี้ เราจะมีเงินได้สุทธิประมาณเท่าไร มีตัวลดหย่อนภาษีอื่น ๆ อีกหรือไม่ ก็จะทราบได้แล้วว่าเราควรเข้าร่วมมาตรการนี้หรือไม่ และควรซื้อของเป็นจำนวนเงินเท่าไร
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส