วันที่ 30 มกราคม 2565 รายการ ‘หนุ่ยทอล์ก’ สัมภาษณ์พิเศษ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กรณี “เสียภาษีคริปโท 15%” หลังประชาชนและนักลงทุนวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลว่าไม่สมเหตุสมผล
อธิบดีกรมสรรพากรชี้แจงว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 50 ที่เกี่ยวข้องกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย นั้น ระบุให้ “เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้” โดยเงินได้จากคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลถูกรวมอยู่ในมาตรานี้ ซึ่งอัตราการเก็บจัดภาษีดังกล่าวทำให้ประชาชนและนักลงทุนหลายคนไม่พอใจ โดยมองว่าเป็นอัตราภาษีที่สูงเกินไปและมีความยุ่งยาก เนื่องจากไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย
ภายหลังการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัล กรมสรรพากรได้ออกร่างแนวทางการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล โดยระบุว่า จะเสนอการแก้ไขประมวลรัษฎากรมาตรา 50 ที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพื่อลดความยุ่งยากของประชาชนและนักลงทุน ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายอยู่นอกเหนืออำนาจของกรมสรรพากรที่จะดำเนินการ ดังนั้น มาตรการที่ดำเนินการได้ในตอนนี้คือ การผ่อนปรนภาษีหัก ณ ที่จ่าย กรณีธุรกรรมที่เกิดขึ้นใน Exchange ที่อยู่ในการกำกับของ ก.ล.ต. ที่ไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
นอกจากนี้ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพิ่มเติมว่า เป็นภาษีที่ไม่ใช่ภาษีสุดท้าย (Final Tax) หากประชาชนและนักลงทุนมีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี สามารถยื่นแบบผ่านกรมสรรพากรเพื่อขอคืนเงินภาษีที่ถูกหักไปได้ ส่วนผู้ที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามปกติ เช่น สงเคราะห์บิดา-มารดา-คู่สมรส-บุตร, ค่าลดหย่อนส่วนตัว, เบี้ยประกันชีวิต-สุขภาพ ฯลฯ ดังนั้น การกล่าวว่า “เสียภาษีคริปโท 15%” จึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี |
ไม่เกิน 150,000 บาท | ยกเว้น |
150,001-300,000 บาท | 5% |
300,001-500,000 บาท | 5% |
500,001-750,000 บาท | 15% |
750,001-1,000,000 บาท | 20% |
1,000,001-2,000,000 บาท | 25% |
2,000,001-5,000,000 บาท | 30% |
ตั้งแต่ 5,000,001 บาทขึ้นไป | 35% |
นอกเหนือจากประชาชนและนักลงทุนมีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีแล้ว ยังมีบุคคลอื่น ๆ ที่สามารถขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย ได้ดังต่อไปนี้
- ผู้มีเงินได้ที่อาจจะมีการจ่ายภาษีเกินไว้ จ่ายผิด หรือจ่ายซ้ำ
- ผู้มีเงินได้ที่จ่ายภาษี หัก ณ ที่จ่าย ไปแล้วและมีภาษีเกิน เนื่องจากการได้รับเครดิตภาษี
- ผู้ที่ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษี แต่ถูกหัก ภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม (นักเทรดคริปโทที่มีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีอยู่ในหมวดนี้)
- ผู้ที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่ทำเรื่องจ่ายภาษีผิดหรือซ้ำ
- ผู้เสียประโยชน์จากการนำส่งภาษีไว้เกิน หรือผิด หรือซ้ำ หรือโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย
ส่วนวิธีการขอคืนภาษี ปัจจุบัน สามารถทำได้ผ่านระบบออนไลน์ของกรมสรรพากร และรับเงินคืนภาษีได้ทั้งระบบพร้อมเพย์ (ช่องทางนี้เร็วที่สุด) และบัญชีธนาคาร (ธนาคารกรุงไทยเร็วที่สุด)
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส